วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

เริ่มปลูกข้าวเจ้าหอมนิล

เดิมทีได้ปรึกษาพี่สุเรียน วงศ์เป็ง ผู้เป็นที่พี่ทั้งเพื่อนที่เรียนหนังสือชั้นมัธยมปลายมาด้วยกัน ร่วมทำกิจกรรมอบรมนักเรียนในสมัยเรียน โดยปรึกษาว่ามีนาอยู่ประมาณ 3 ไร่ จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้างในช่วงนี้ ถามทั้งปลูกพริก ปลูกถั่วเหลือง แต่ตามฤดูกาลล่าช้าไปแล้ว จึงได้รับคำแนะนำให้ปลูกขยายพันธุ์ข้าว โดยจะปลูกข้าวไม่ไวแสง เป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้องการในภาคเหนือหลัก ๆ ที่คุยกันไว้คือ ข้าวสันป่าตอง และข้าว กข.10

ในที่สุดก็ตกลงปลงใจปลูกข้าวตามคำแนะนำก็เตรียมพื้นที่ ขลุกขลักฉุกละหุกบ้างเรื่องไถ เรื่องคนดูแล มิหนำซ้ำติดปัญหาเรื่องน้ำ ที่มีแหล่งน้ำสามารถใช้ได้ทั้งปี แต่อยู่ต่ำกว่าระดับของนา โดยมีถนนกั้นสูงพอสมควร จึงต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำ และหาซื้อไม่ทันต้องเช่าเขาอีก

ถึงตอนนี้ไม่ได้กลัวเสียเงินหรือขาดทุน แต่กลัวไม่ได้ทำเสียมากกว่า เพราะคิดแล้วการเริ่มต้นครั้งนี้ดูแล้วมีคุณค่า ยิ่งใหญ่เสียจนจะหยุดไม่ได้ เสียเงินไม่ว่าขอให้ได้ลงมือทำ คราวนี้มองไม่เห็นผลกำไร แต่มองว่าต้องสำเร็จ

24, มกราคม 2555
หลังตรุษจีนปีมังกรทอง 1 วัน ก็ได้โอกาสปลูกข้าวต้นเดียวกันเสียที โดยได้คนช่วยปลูกมาจากบ้านน้ำโค้ง ซึ่งเป็นคนงานเก่าแก่ที่ผูกพันเหมือนพี่เหมือนน้องกับพี่กวง, กมล มงคลเกียรติชัย ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้วิชาความรู้ด้านอิเลกโทรนิกส์ และโอกาสในการเรียนรู้ พร้อมทั้งเป็นเสมือนพี่ชายที่ช่วยเหลือกันมาตลอด

ทีมปลูกครั้งนี้เป็นผู้หญิงล้วนนำทีมโดยพี่เพ็ญ ได้เริ่มลงมือปลูกในทีมนี้มีคุณยายอายุ 60 กว่า ๆ มาร่วมด้วย ท่านคล่องแคล่วว่องไวราวกับหญิงสาวก็ไม่ปาน การเพราะปลูกเริ่มขึ้นประมาณ 9.00 น. เลยไปสักเล็กน้อย

แต่ละคนก็หัวเราะวิธีการปลูกข้าวต้นเดียวต่าง ๆ นา ๆ คำพูดที่ติดหูตลอดในตอนนี้คือ "...เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็พึ่งเคยเห็นนี่แหละ... ปลูกข้าวทีละเส้น..." นอกจากจะปลูกทีละต้นยังต้องห่างกันประมาณ 1 ศอกอีกต่างหาก

และพี่ตาสามีพี่เพ็ญก็สั่งให้ทุกคนปลูกข้าวหอมนิลเป็นอันดับแรกก่อนที่เจ้าตัวจะเดินทางไปประชุมเกี่ยวกับปศุสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมของหมู่บ้าน


จากเดิมวางไว้จะปลูกข้าว กข. 10 แต่ล่าช้าติดขัด ทำให้ต้นกล้าไม่มี จึงได้ข้าวหอมสกล และข้าวหอมนิลมาอย่างละนิด  และข้าวหอมนิลที่ได้เป็นต้นกล้าอายุ 15 วัน ซึ่งชาวบ้านก็ตกใจเพราะปกติคุ้นเคยกันต้อง 30-40 วัน ต้นกล้าสูงเกือบเข่า แต่ต้นที่เอามานี้สูงประมาณ 1 คืบ ปักลงดินไปทีน้ำท่วมมองไม่เห็นยอดข้าว และที่สำคัญคราวนี้เราปลูกข้าวแบบลืมตัดยอด เพราะไม่รู้ว่าต้องตัดหรือเปล่า คนที่รู้ก็ยังไม่มา และชาวนาที่ปลูกก็ไม่กล้าถามหรือคัดค้าน เพราะกรรมวิธีที่เขาไม่คุ้นเคย ต่างก็มาถามผู้เขียนกันยกใหญ่ว่า กว้างหรือแคบแค่นี้พอหรือยัง ผู้เขียนก็สาระวนกับการถ่ายรูป ได้แต่พยักหน้าหงึก ๆ ให้สัญญานคุณยาย



ภรรยาผู้เขียนกระโดดลงแปลงนาด้วยสัญชาติญานลูกชาวนา ตั้งหน้าตั้งตาปลูกจนหมดระยะ ผู้เขียนก็ไม่รอช้าวางอุปกรณ์การถ่ายภาพทิ้งไว้ข้างแปลงนาลองไปลุยสักตั้งจะได้รู้ว่าการปลูกข้าวหรือการดำนาเป็นอย่างไร


การปลูกก็เป็นไปอย่างเงียบ ๆ ผู้เขียนเองก็เครียดกับการปลูกพอสมควร เพราะน้ำในนาระดับไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งลึกกว่า คนดูแลบอกว่าจะให้ดีต้องใช้รถไถเดินตาม เกลี่ยดินให้เสมอราบเรียบ สำหรับรถไถใหญ่นั้น พี่สุเรียนแนะนำให้ถือจอบกับมีดพร้าเดินตาม จอบเอาไว้เกลี่ยดินให้สม่ำเสมอ ส่วนมีดพร้าเอาไว้ฟันปลา (แต่พี่กวงแย้งนึกว่าเอาไว้ฟันคนขับรถไถ)

ในบริเวณที่น้ำลึกบางครั้งปักต้นกล้าลงไปแล้วน้ำท่วมยอดมองไม่เห็นจนจำไม่ได้ว่าตรงไหนปักไปหรือยัง บางครั้งก็เอามือควาน ๆ ดูว่าปักต้นกล้าไปแล้วหรือไม่ พอคลำเจอก็ไม่แน่ใจว่าหญ้าหรือต้นข้าว ถึงกับถอนออกมาดูว่าใช่หรือไม่แล้วปักลงไปใหม่ก็มี ไม่รู้ว่างานนี้จะออกหัวหรือก้อย

ส่วนการปลูกข้าวหอมสกลอีกฝั่งหนึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยดีจนถึงบ่ายสอง


สำหรับข้อมูลเกี่ยวข้าวหอมนิลนั้นได้อ่านพบในเว็บของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ข้าวเจ้าหอมนิล (http://www.ku.ac.th/e-magazine/april44/agri/rice1.html)

ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจนได้ข้าว ที่มีเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาว สีม่วงเข้ม ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะนุ่ม เหนียว หอม ข้าวสารหุงสุกมีสีม่วงอ่อน นุ่ม และมีกลิ่นหอมเช่นกัน คุณสมบัติที่สำคัญของข้าวเจ้าหอมนิลคือ ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงถึง 12.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ amylose 16 เปอร์เซ็นต์ และยังประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ (ตารางที่ 1) นอกจากนี้ลักษณะดีเด่นของข้าวเจ้าหอมมะลิที่พบนอกจากคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ทรงต้นเตี้ย แตกกอดี เมล็ดมีน้ำหนักดี อายุสั้นเพียง 90 วัน ทำให้สามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้งต่อปี ดังนั้นหากได้รับการจัดการที่เหมาะสมในการผลิตต่อปีสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ

สำหรับคุณค่าทางโภชนการเมื่อเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้วจะเห็นว่ามีปริมาณโปรตีนสูงกว่าถึงหนึ่งเท่าตัว แต่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตจะต่ำกว่าเล็กน้อย


ลักษณะประจำพันธุ์
ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 95 วันหลังหว่าน ลำต้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร การแตกกอดี ใบและลำต้นมีสีเขียวเข้มปนสีม่วง เปลือกหุ้มเมล็ดข้าวมีสีม่วงเข้ม เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ 6.5 มิลลิเมตร ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และแมลงโดยทั่ว ๆ ไป

         การศึกษาเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมายชนิด microsatellite จำนวน 48 ตำแหน่ง มาทำการตรวจสอบ ชี้ให้เห็นว่า ข้าวเจ้าหอมนิลมีความแตกต่างจากข้าวพันธุ์ Hei Bao และ Xua Bue Huqที่เป็นข้าวเมล็ดสีดำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงยืนยันได้ว่าข้าวทั้ง 3 ไม่ได้เป็นพันธุ์เดียวกัน

ข้อมูลจาก: http://www.sininrice.com/insightsub1.html

ลักษณะประจำพันธุ์   ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี การแตกกอดี ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และแมลงโดยทั่วๆ ไป
ความสูงของต้น
สีของ ใบ/ลำต้น
เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ
เปลือกหุ้มเมล็ดข้าว
อายุการเก็บเกี่ยว
ผลผลิตเฉลี่ย
75 เซนติเมตร
เขียวเข้มอมม่วง
6.5 มม. มีสีม่วงดำ
มีสีม่วงเข้ม
95-100 วัน
400-700 กิโลกรัมต่อไร่
ต้านทานต่อโรคไหม้ (Blast)
ทนทานต่อสภาพแล้ง (Drought) และดินเค็ม (Salinity)

ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีโปรตีนอยู่ในช่วงประมาณ 10-12.5 % มีปริมาณแป้งอะมัยโลสประมาณ 12-13% มีปริมาณสาร 2-acetyl-1-pyrroline ปานกลาง ร่วมกับสารหอมระเหยจำเพาะ พวก Cyclohexanone ในปริมาณมาก มีแคลเซียม 4.2 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม ปริมาณธาตุเหล็กแปรปวนอยู่ระหว่าง 2.25- 3.25 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม และธาตุสังกะสีประมาณ 2.9 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

ข้าวเจ้าหอมนิลมีปริมาณสาร antioxidation สูงประมาณ 293 ไมโครโมลต่อกรัม ในส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีม่วงเข้มประกอบไปด้วยสาร anthocyanin, proanthocyanidin, bioflavonoids และวิตามิน E ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสีผสมอาหารตามธรรมชาติ

ในส่วนของรำและจมูกข้าว มีวิตามิน E วิตามิน B และกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ในส่วนของรำมีน้ำมันรำข้าว 18% เป็นองค์ประกอบ ซึ่ง 80 % เป็นชนิด C18:1 และ C18:2 เหมือนกับน้ำมันที่ได้จากถั่วเหลืองและข้าวโพดและพบว่ามีสาร omega-3 ประมาณ 1-2 % รำข้าวของเจ้าหอมนิลมีปริมาณเส้นใย digestible fiber สูงถึง 10% จากข้อมูลทางโภชนาการนับได้ว่าข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีศักยภาพในการนำมาแปรรูปทางอุตสหกรรมอาหารสูง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวเจ้าหอมนิล รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่าง

คุณประโยชน์ของสีม่วงในข้าวเจ้าหอมนิล
ข้าวเจ้าหอมนิลมีเมล็ดสีม่วงดำ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสีของเมล็ด สีม่วงดำประกอบไปด้วย สีม่วงเข้ม (cyanidin) สีชมพูอ่อน (peonidin) และสีน้ำตาล (procyanidin) ผสมกัน ซึ่งสีที่เห็นนั่นเป็นสารประกอบกลุ่ม flavonoid ที่เรียกว่า สารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่ประกอบไปด้วยสาร cyanidin กับ สาร peonidin

สารโปรแอนโทไซยานิดิน (proanthocyanidin) ประกอบด้วยสาร procyanidin ซึ่งสารดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นสาร antioxidant ที่ทำหน้าจับกับอนุมูลอิสระแล้วช่วยทำให้กลไกลการทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปกติ

สารแอนโทไซยานิน มีรายงานวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจ และสมอง บรรเทาโรคเบาหวาน ช่วยบำรุงสายตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นเวลามองตอนกลางคืน สาร cyanidin มีประสิทธิภาพในการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินอี หลายเท่า และยังยับยั้งการเจริญเติบโตของ epidermal growth factor receptor ในเซลล์มะเร็ง สารโปรแอนโทไซยานิดิน หรือเรียกว่าสาร condensed tannins มีรายงานวิจัยพบว่า สารโปรแอนโทไซยานิดิน ทำการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินซี วิตามินอี และ เบต้าแคโรทีน (beta-carotene) สาร โปรแอนโทไซยานิดิน ยังไปจับกับอนุภาคของกัมมันตภาพรังสีทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ และช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดป้องกันโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ยังยับยั้งการเจริญเติบของเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด กระเพาะอาหาร และเม็ดเลือดขาว และยังป้องกันไวรัส HSV-1 และยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ reverse transcriptase ใน ไวรัส HIV

การผลิตและการตลาดข้าวเจ้าหอมนิล
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเกษตรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตข้าวเจ้าหอมนิลออกสู่ตลาดผู้บริโภค เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ที่ผ่านมา โดยในข้อตกลงดังกล่าวนี้ พันธุ์ข้าวเจ้าหอมนิลยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นเจ้าของสิทธิบัตร หากมีการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศทั่วโลก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการผลิตข้าวเปลือกที่มีคุณภาพส่งให้กับบริษัทฯ ในราคาประกัน โดยบริษัทคิดราคาให้ในราคาสูงสุดของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ณ โรงสี ตามประกาศของกรมการค้าภายใน ในวันที่ส่งข้าวแต่ละครั้ง แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ทั้งนี้บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งกลับคืนมาจากมูลค่าของข้าวเปลือกที่ส่งให้กับบริษัทฯ เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย และยังจะได้ค่าตอบแทนสิทธิ์ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่ส่งให้กับบริษัทฯ เป็นเวลา 10 ปีด้วย

ส่วนบริษัทเกษตรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อข้าวเปลือกจากมหาวิทยาลัย แปรรูป และจำหน่ายข้าวเจ้าหอมนิลในรูปของผลิตภัณฑ์ ข้าวเจ้าหอมนิล เพื่อนไทย และข้าวหอมไตรรงค์ เพื่อนไทย ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของโลตัส จัสโก้ และท๊อป เนื่องจากข้าวเจ้าหอมนิลเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการต่อไป บริษัทเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพและความสนใจข้าวเจ้าหอมนิลจะได้นำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก เช่น น้ำนมข้าว breakfast cereal เป็นต้น...

ข้าวเจ้าหอมนิลมีเมล็ดข้าวกล้องสีดำ แต่ที่จริงคือสีม่วงเข้มที่สะสมอยู่ในส่วนของรำ(pericarp) ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งหมดสามสี คือ สีน้ำตาลอ่อน(procyanidin), สีแดง(peonidin), และสีม่วง(cyanidin) สีทั้งหมดของข้าวเป็นรงควัตถุ(pigments) ที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ flavonoid (ภาพที่1) ในต้นข้าว ซึ่งอาศัย 2 ปัจจัยหลักคือ

1) ปัจจัยของพันธุกรรม(genetic factor) เช่น ระบบการทำงานของยีนควบคุม(regulatory genes) และยีนโครสร้าง(structural genes)

2) ปัจจัยของสภาพแวดล้อม(environment factor) เช่น สภาพของดิน แร่ธาตุ สารอาหาร pH อุณหภูมิ และแสง

จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำการศึกษายีนโครสร้างที่สำคัญ คือ CHS(Chalcone synthase), DFR(Dihydroflavonol reductase), ANS(Anthocyanidin synthase) และ ยีนควบคุมที่สำคัญคือ
C1( Colored-1), OSB1(O. sativa Booster1), OSB2 (O. sativa Booster2) และปัจจัยของสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ว่ามีผลต่อลักษณะของสีเมล็ดที่แสดงออกหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า ยีนควบคุมที่สำคัญคือ OSB1 ทำหน้าที่ควบคุมการสังเคราะห์สีที่เมล็ดข้าว (ภาพที่ 2) ส่วนยีนโครงสร้างที่มีสำคัญที่มีผลให้สีของเมล็ดข้าวเกิดเข้มขึ้นหรือจางลง คือยีน ANS (ภาพที่ 3) และผลของอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนทำให้ยีน DFR เกิดการ unsplicing ขึ้นในกระบวนการถอดรหัสสารพันธุกรรม (transcriptional)

1 ความคิดเห็น:

  1. The Lucky Club Casino Site - Live Dealer Review
    The Lucky Club is a great choice for the new player who wants to play in luckyclub.live an online casino. It is a place that accepts Bitcoin, Ethereum, and other cryptocurrencies.

    ตอบลบ