วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

พันธุ์ข้าวเมืองน่าน

ช่วงนี้ก็ดูข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวเหมือนคนบ้า งานหลักยังไม่ได้แตะเลยหลังกลับจากน่าน แต่ก็ขอสักวันต่อเนื่องตามไฟที่กำรังประทุ

สืบเนื่องจากการปลูกข้าวโดยไม่รู้อะไรแม้แต่นิด มิหนำซ้ำเราพูดฟุ้งเสียจนชาวบ้านที่มาช่วยปลูกเชื่อว่ารู้จริงเสียอีก เราปลูกข้าวไม่ตัดยอดชาวบ้านยังไม่ทักสักนิดเพราะคิดว่าเรารู้ดี จำต้องกลับมาหาข้อมูลเพื่อให้การทำนาถูกต้องหรือได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง

ตอนนี้ปลูกข้าวเจ้าหอมนิลไว้แปลงเล็ก ๆ ใช้ต้นกล้าไป 5 กำ ประมาณ 200 ต้นกว่า ๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งปลูกข้าวหอมสกล ที่เป็นข้าวพื้นถิ่นน่านแต่ได้ชื่อไกลแสนไกล สืบไปมาแล้วเป็นข้าวที่ถูกปลูกจนถือว่าเป็นข้าวพื้นถิ่นเหมาะต่อสภาพของจังหวัดน่าน และได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่านเลยนำมาเก็บไว้เพื่อเป็นข้อมูลเรียนรู้ต่อไป (ผู้เขียน- พิมลพรรณ สกิดรัมย์)

พันธุ์ข้าวที่นิยมในเมืองน่าน หลัก ๆ ประกอบด้วย พันธุ์ กข 6 กข 10 สันป่าตอง 1 รองลงมาก็เป็น 3 พันธุ์ที่ได้รับการทดลองปลูกและปรับเข้ากับสภาพพื้นถิ่นของจังหวัดน่าน พันธุ์เหนียวหวัน1 พันธุ์หอมสกล และพันธุ์เหนียวมะลิหอม

พันธุ์เหนียวหวัน 1 มากจากความพยายามของนายหวัน เรืองตื้อ เกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว บ้านหาดเค็ด ตำบลเมืองจัง กิ่ง อ.ภูเพียง จังหวัดน่าน โดยนำพันธุ์ข้าง 2 พันธุ์มาผสมกัน คือ พันธุ์หอมทุ่ง และพันธุ์ กข 6 และทำการคัดเลือกถึง 8 ฤดูปลูกจึงได้พันธุ์ข้าวเหนียวหวัน 1 ที่ตรงตามความต้องการ พันธุ์เหนียวหวัน1 มีจุดเด่นคือ ลำต้นแข็งแรง แตกกอสูง เมล็ดต่อรวงสูง ลักษณะเมล็ดไม่เรียวมาก หอม หุงกินอร่อย หลังจากกระจายพันธุ์นี้มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ได้รับความนิยมอย่างมาก

พันธุ์หอมสกล เป็นพันธุ์ข้าวที่กลุ่มเกษตรกรโรงเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา นำมาคัดเลือกพันธุ์ จนกระทั้งปรับเข้ากับสภาพพื้นที่ ได้รับความนิยมในพื้นที่ที่ปลูกพืชหลังนา เพราะพันธุ์นี้เป็นข้าวอายุสั้น หากนำไปปลูกต้องระวังนก เพราะถ้าปลูกในจำนวนไม่มากนกจะกินเสียหายเพราะข้าวพันธุ์นี้มีความหอมมาก นอกจากนั้นเมล็ดยังเรียวสวยกินนุ่มอร่อย

พันธุ์เหนียวมะลิหอม เริ่มได้รับความนิยมหลังจากที่แกนนำเกษตรกรฮักเมืองน่านบ้านม่วงตึ้ดนำมาแลกเปลี่ยนในเครือข่าย จากการสืบประวัติพบว่า พันธุ์นี้ได้รับการปรับปรุงและคุดเลือกพันธุ์โดยอาจารย์มงคล พุทธวงค์ ราชมงคลล้านนาน่าน ซึ่งท่านอาจารย์เองเป็นคนม่วงตึ้ดและนำไปให้ครอบครัวและญาติปลูกจนได้รับความนิยม ทางเครือข่ายได้นำมาขยายผลต่อเนื่อง คุณลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้เกือบคล้ายคลึงกับหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวจ้าว ต่างกันตรงที่เป็นข้าวเหนียว โดยมีลักษณะตามสายพันธุ์ดังนี้

พันธุ์ความสูง(ซม.)จำนวนหน่อ/ก่อจำนวนเมล็ดต่อรวงผลผลิตต่อไร่อายุการเก็บเกี่ยว (วัน)
เหนียวหวัน 11639-10250670-700145-150
หอมสกล1467160-200550-660126
เหนียวมะลิหอม160 7-8180-200664135-140


ข้าวพื้นบ้าน และการพัฒนา
ที่มา: สำรวย ผัดผล

ข้าวปลูกของไทย ทั้งข้าวป่าเคยถูกศึกษารวบรวม จัดเก็บในธนาคารเชื้อพันธุ์แห่งชาติที่ปทุมธานีถึง 17,200 ตัวอย่าง เป็นของภาคเหนือถึง 4,079 ตัวอย่าง และเป็นของน่านถึง 780 ตัวอย่าง(ข้อมูลจากธนาคารเชื้อพันธุ์แห่งชาติ) จากการสำรวจของมูลนิธิฮักเมืองน่าน เมื่อปี 2537 ข้าวในเมืองน่านมี 316 ตัวอย่าง

การจัดเก็บนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว พันธุ์ใหม่ๆ สู่นา การยอมรับข้าวพันธุ์ใหม่ๆ คือการแทนที่ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ข้าวพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง อร่อย ตอบสนองต่อวิถีการผลิตแบบใหม่ที่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี และเครื่องไถพรวนจักรกล

ขณะที่ข้าวพื้นบ้านก็ถูกจัดเก็บไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ เพื่อเป็นวัตถุดิบทางพันธุกรรมในการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต การพัฒนาเกิดขึ้นจากการริเริ่มของนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา แล้วนำกลับมาสู่ชาวนาใหม่ ในฐานะผู้ใช้พร้อมๆ กับกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ของนักส่งเสริมการเกษตร ชาวนารอรับเทคโนโลยี และรอรับเมล็ดพันธุ์ดีจากผู้เชี่ยวชาญ เกือบครึ่งศตวรรษ เข้าไปแล้ว

ความสูญเสียพันธุ์ข้าวหายไปพร้อมๆ กับความรู้พื้นบ้านที่กำกับใช้พันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ และที่สำคัญชาวนาสูญเสียความมั่นใจในตนเองว่า ความรู้ และพันธุ์ดั้งเดิมที่สืบรุ่นกันมาแต่ปู่ย่าตายายไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา ที่เป็น “ทุกข์” ของชาวนา ณ วันนี้เสียแล้ว

ข้าวจึงเต็มไปด้วยสารพิษ ผืนนา จึงมีแต่ข้าว ไร้ ปลา หอย ปู และพืชอื่นๆ ปลูกข้าวได้แต่ข้าวคลุกสารพิษ ไม่มีอาหารดังเช่นอดีต

รูปธรรม...ข้าวคืนนา

ปลาคืนน้ำ...ที่เมืองน่าน

ชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้านน่าน ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโจ้โก้ ทำการสำรวจพร้อมจัดเก็บพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พันธุกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่พบว่ามี 316 สายพันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวไร่ 242 สายพันธุ์ ข้าวนา 74 สายพันธุ์

จากนั้นได้บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ คุณสมบัติเบื้องต้น พร้อมกับเหตุผลที่ชาวนาเมืองน่านยังคงจัดเก็บ และใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้

มีข้อค้นพบน่าสนใจหลายประเด็น เช่น ข้าวเมืองน่านกระจายการใช้ไปตามภูมินิเวศน์ที่หลากหลาย ชาวบ้านเรียกว่า “โหล่ง” แต่ละโหล่งจะมีข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมประจำถิ่นอยู่ ยกตัวอย่าง ดอหม่าและ เดิมชื่อดอเมืองและ (อำเภอทุ่งช้างปัจจุบัน) ถูกยอมรับในแถบอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว และอำเภอท่าวังผา เพราะว่าชาวนาแถบนี้ต้องการข้าวอายุสั้น (ดอ แปลว่า อายุเก็บเกี่ยวสั้น) ให้ฟางเยอะ ชาวนาต้องการเอาไว้คลุมแปลงพืชหลังนา ให้ผลผลิตสูง อร่อย ทนโรค ทนแล้ง มีข้อตำหนิเพียงเมล็ดใหญ่ ขายได้ราคาถูก

อีกตัวอย่าง เช่น ข้าวหอมทุ่ง ข้าวเหนียวหอมมะลิ ทั้ง 2 พันธุ์นี้ โดดเด่นในเรื่องความหอม และความแข็งแรงของลำต้น ไม่หักล้มง่าย มีความอร่อยสู้กลุ่ม กข.6 ได้

อาสาสมัครของศูนย์เริ่มทำเป็นทะเบียนพันธุ์พร้อมกับรายละเอียดพันธุ์ แล้วนำเสนอไปยังหมู่บ้านต่างๆ พบว่า ชาวนาแจ้งจำนงจอง และขอกลับไปปลูกในโหล่งเดิมของตนอีกครั้ง เหตุผลที่สำคัญคือ ข้าว กข. ได้แสดงอาการของโรค และความอ่อนแอให้เห็นหลายประการ เช่น กข.6 ล้มง่าย กข.10 มีหน่อเยอะแมลงบั่วชอบมาก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนจาก ข้าวกข. มาหาพื้นเมืองอีกรอบก็ทำได้ลำบาก เพราะติดใจในรสหุงต้มที่อร่อย ความสวย เรียวงามของเมล็ด และราคาที่สูง

นายหวัน เรืองตื้อ ผู้ผสมผสานปัญญาพื้นบ้าน กับปัญญาใหม่ทางวิทยาศาสตร์

หวันเป็นชาวนารุ่นใหม่วัยสี่สิบต้นๆ ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ ให้กับชาวนาเมืองน่าน ตั้งแต่ปี 2539 โดยเริ่มจัดเก็บข้าวพื้นเมือง ประมาณ 41 สายพันธุ์เพื่อศึกษาพร้อมกันนั้นได้ทดลองผสมข้ามพันธุ์ โดยเอาข้าวหอมทุ่ง เป็นฐานพันธุ์ แล้วนำเอาเกสรตัวผู้ กข.6 เป็นพ่อ

จากนั้นอาศัยความเพียรอย่างยิ่งยวดอีก 8 ปี ในการคัดเลือกลูกผสม จนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเด่นกว่าพ่อ และแม่ โดยข้าวพันธุ์ใหม่ ให้ผลผลิตสูง, ลำต้นแข็งแรง, หอมอร่อย เมล็ดเรียวสวยงาม จากนั้นได้นำมาทดลองปลูก ถูกยอมรับในโหล่งของตนเอง และข้าวยังกระจายไปต่างอำเภอจนเกือบครบทุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน นอกจากนั้นยังกระจายไปในหมู่ญาติมิตรต่างจังหวัด เช่นที่ พะเยา เลย หนองคาย และเชียงราย เป็นต้น ที่แน่ๆ ข้าวพันธุ์นี้เหมาะกับระบบอินทรีย์ที่เจ้าของพันธุ์พัฒนามาให้ตอบสนองต่อวิธีการผลิตแบบชาวบ้าน

วันนี้ หวัน เรืองตื้อ จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับสมาชิกชาวนาอื่นๆ ในการนำใช้สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมาปรับปรุงใช้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง ชาวนาที่บ้านทุ่งฆ้องได้คัดเลือกข้าวหอมสกล ซึ่งเป็นลูกผสมของพันธุ์ดั้งเดิม คือ หอมอ้ม ผสมกับ กข.10 ขณะที่ชาวนาอำเภอภูเพียง ทำข้าวเหนียวหอมมะลิ คัดเลือกให้บริสุทธิ์ นำมาปลูกใช้ใหม่ เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย

ปีนี้ 2551 ชาวนาที่น่านได้ร้องขอข้าวอีก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ขี้ตมขาว เจ้าดอ นางเก๋า ผาโก้งน้อย และมะน้ำปัว จากกรมการข้าว ขณะนี้ กลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้านป่าอ้อย อำเภอสันติสุขได้ปลูกดูแล พร้อมกับบันทึกลักษณะอยู่

พวกเขาตั้งใจว่า จะขอดูแลแม่ขวัญข้าว โดยยกขบวนไปรับจากกรมการข้าวพร้อมๆ กับเพื่อนชาวนาอีกกว่า 20 จังหวัด ได้ทำพิธีสู่ขวัญรับแม่ขวัญข้าว แล้วนำกลับที่วัดให้หลวงพ่อได้เปิดถุงนำมาเพาะ ตั้งใจจะใช้เป็นฐานพันธุกรรมในการพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น