วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ข้าวธัญสิริน

ที่มา: เปิดตัวข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน “ธัญสิริน” ต้านทานโรคไหม้
       หลังจากให้เกษตรกรภาค เหนือ-อีสานทดลองปลูกข้าวเหนียว กข 6 ที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมทำให้ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเพิ่มผลผลิตและลดความเสียหายจากปัญหาข้าวล้ม ล่าสุดข้าวพันธุ์ดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยได้รับพระราชทานนาม “ธัญสิริน” จากสมเด็จพระเทพฯ
     
       ชาวนาในเขตภาคเหนือและอีสานนิยมปลูกข้าวเหนียวไว้กิน แต่ข้าวเหนียว กข 6 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ดีที่สุดในประเทศนั้น มีปัญหาเรื่องโรคไหม้ ที่ทำให้ต้นกล้าตายและในพื้นที่น้ำน้อยไม่สามารถเพาะปลูกซ้ำได้หากเกิดความ เสียหายจากโรคดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงข้าวเหนียวพันธุ์ดังกล่าวให้ต้านทานต่อโรคไหม้ ด้วยเทคนิคการใช้ยีนเครื่องหมาย (Marker Gene) เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้องการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545-2546 และใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 4 ปี
     
       ปัจจุบันชาวนาใน จ.น่าน เชียงราย ลำปาง สกลนคร ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ได้ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์นี้แทนข้าวเหนียว กข 6 มา 3 ปีแล้ว รวมเป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5,000 ไร่ โดยเฉพาะชาวนาในจังหวัดน่านซึ่งได้รวมกลุ่มกันขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวดัง กล่าว โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 800 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผลผลิตจากการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข และบางพื้นที่ให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 ไร่ โดยเฉพาะแปลงนาอินทรีย์ที่มีการดูแลเป็นพิเศษ
     
       ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวดังกล่าวอธิบายว่า เหตุที่ข้าวเหนียวพันธุ์นี้ ให้ผลผลิตสูงขึ้น เพราะนอกจากข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่จะต้านทานโรคไหม้แล้ว ยังไม่ล้มง่ายเหมือนข้าวเหนียวพันธุ์เดิมที่ชาวนาปลูก จึงทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 พันธุ์ให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน โดยผลผลิต โดยข้าวเหนียว กข 6 เดิมเสียผลผลิตจากข้าวล้มมากถึง 40%
     
       “ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่นี้หุงง่ายกว่าเดิมเพราะไม่ต้องแช่ทิ้งไว้ข้าม คืนเหมือนข้าวเหนียว กข 6 และยังให้เปอร์เซ็นต์ขัดสีสูง คือ เมล็ดไม่หักเมื่อนำไปขัดสีเพราะมีเมล็ดอ้วนกว่าข้าวเหนียวพันธุ์เดิมเล็ก น้อย อีกทั้งรสชาติยังไม่ต่างไปจากเดิมด้วย” ดร.ธีรยุทธกล่าว
     
       หลังจากให้เกษตรกรปลูกมาระยะหนึ่งแล้ว ทีมวิจัยได้ขอพระราชทานนามสำหรับข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่จากสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อกลางปีที่ผ่านมาในช่วงเริ่มต้นฤดูกาล และเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ทีผ่านมา ข้าวเหนียวพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ธัญสิริน” โดยทาง ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จะนำเรื่องข้าวเหนียวพันธุ์นี้เข้ารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขยาย ผลต่อไป


ธัญสิรินพันธุ์ข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน
ที่มา: ธัญสิรินพันธุ์ข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความสำเร็จนักวิจัยไทย พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ต้านทานโรคใบไหม้ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ได้รับพระราชทานนาม "ธัญสิริน" ปลูกแทน กข.6

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ให้มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ว่า "ธัญสิริน"

ข้าวธัญสิริน เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยอาศัยเทคนิคเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 แต่มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ลำต้นแข็งแรงทนการหักล้ม ให้ผลผลิตอยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ลดเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก โดยพื้นที่ปลูกที่เป็นออร์แกนิกส์ สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

“เมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน นำไปทดลองปลูกในนาข้าวของเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง ชัยภูมิ และสกลนคร โดยปลูกแทนข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 เดิม ในช่วงเวลา 3 ปี พบว่าสามารถลดความเสียหายในนาข้าวได้ถึง 30%” นักวิจัยกล่าว

ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในภาคเหนือ และอีสาน นำไปเพาะปลูก

"กระทรวงวิทยาศาสตร์เตรียมนำเสนอข้อมูลผ่านคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสุนนให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก จาก 5,000 ไร่ ไปยังพื้นที่อื่นๆ " ดร.วีระชัย กล่าวและย้ำว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน ไม่ใช่วิธีการดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น