วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลเรื่องข้าวจากหนังสือสารานุกรม

สืบเนื่องจากพยายามไปเสาะหาหนังสือสารานุกรมเรื่อง ข้าว ซึ่งอยู่ในหนังสือเล่มที่ 3 ไปร้านไหนพนักงานก็หัวเราะบอกว่าเขาเลิกผลิตไปแล้ว ก็ลองมาค้นหาในเว็บก็พบในเว็บ กาญจนาภิเษก จึงรวบรวมมาไว้ในบล็อกอีกทีหนึ่งเพื่อสะดวกในการอ่าน แต่หากจะบอกว่าละเมิดลิขสิทธิ์ก็ช่วยไม่ได้นะครับ เพราะพยายามหาหนังสือแล้ว ยินยอมที่จะจ่ายเงินแต่ไม่มีหนังสือให้ซื้อหากจะฟ้องก็ยินยอมครับ

ลักษณะที่สำคัญของข้าว

ลักษณะที่าคัญของข้าวแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ดังนี้

๑. ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต ลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ
    ๑.๑ ราก รากเป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน ใช้ยึดลำต้นกับดินเพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อ ซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายแตกแขนงอยู่ใต้ผิวดิน
    ๑.๒ ลำต้น มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลาง และแบ่งออกเป็นปล้องๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว ปกติมีประมาณ ๒๐- ๒๕ ปล้อง
    ๑.๓ ใบ ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และสร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบ และแผ่นใบ

๒. ลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ต้นข้าวมีการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย เพราะฉนั้น ลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการ ขยายพันธุ์ ได้แก่ รวง ดอกข้าว และเมล็ดข้าว
    ๒.๑ รวงข้าว(panicle) หมายถึง ช่อดอกของข้าว(inflorescence) ซึ่งเกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว ระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องอันสุดท้ายกับข้อต่อของใบธง เรียกว่า คอรวง
    ๒.๒ ดอกข้าว หมายถึง ส่วนที่เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ดอกข้าวประกอบด้วยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่นประสานกัน เพื่อห่อหุ้มส่วนที่อยู่ภายในไว้ เปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก เรียกว่า เลมมา(lemma) ส่วนเปลือกนอกใหญ่แผ่นใน เรียกว่า พาเลีย(palea) ทั้งสองเปลือกนี้ ภายนอกของมันอาจมีขน หรือไม่มีขนก็ได้
    ๒.๓ เมล็ดข้าว หมายถึง ส่วนที่เป็นแป้งที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม(endosperm) และส่วนที่เป็นคัพภะ ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่น เอ็นโดสเปิร์มเป็นแป้งที่เราบริโภค คัพภะเป็นส่วนที่มีชีวิต และงอกออกมาเป็นต้นข้าวเมื่อเอาไปเพาะ

แหล่งกำเนิดของข้าว
ข้าวที่เกิดมีขึ้นในท้องที่ต่างๆ ของโลกเรานี้ แบ่งออกได้เป็น ๓ พวก คือ
  1. ออไรซา ซาไทวา (oryza sativa) มีปลูกกันทั่วไป 
  2. ออไรซา แกลเบ อร์ริมา (oryza glaberrima) มีปลูกเฉพาะในแอฟริกาเท่านั้น 
  3. ข้าวป่าซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศต่างๆ ที่ปลูกข้าว มีด้วยกันหลายชนิด (species) แต่ที่สำคัญ และควรทราบ ได้แก่ 
    1. ออไรซา สปอนทาเนีย (oryza spontanea) 
    2. ออไรซา เพเรนนิส (oryza perennis) 
    3. ออไรซา ออฟฟิซินาลิส (oryza officinalis) 
    4. ออไรซา นิวารา (oryza nivara) 
และเป็นที่ยอมรับกันว่า ข้าวป่าพวก ออไรซา เพเรนนิส ได้เป็นตระกูลของข้าวที่เราปลูกบริโภคกันทุกวันนี้ ซึ่งได้แก่ ออไรซา ซาไทวา และออไรซา แกลเบอร ์ริมา

ดังนั้น ออไรซา เพเรนนิส จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในธรรมชาติ และได้ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ และมนุษย์ จนกลายเป็นข้าวที่ปลูกกันทุกวันนี้ นอกจากนี้ได้มีการเชื่อกันว่า แหล่งกำเนิดแห่งหนึ่งของข้าวอยู่ในบริเวณภาคเหนือ ของประเทศไทยด้วย


ชนิดของข้าว

ข้าวที่ปลูกเพื่อบริโภค สามารถแบ่งออกได้เป็นชนิดต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ใช้เป็นมาตรการสำหรับการแบ่งแยกข้าว

๑. แบ่งตามสภาพพื้นที่ปลูก เป็นข้าวไร่ ข้าวนาสวน และข้าวนาเมืองหรือข้าวขึ้นน้ำ
  • ข้าวไร่ หมายถึง ข้าวที่ปลูกบนที่ดอน ไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก
  • ข้าวนาสวน หมายถึง ข้าวที่ปลูกแบบปักดำหรือหว่าน และระดับน้ำในนาลึกไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร
  • ข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ หมายถึง ข้าวที่ปลูกแบบหว่าน และระดับน้ำในนาลึกมากกว่า ๘๐ เซนติเมตรขึ้นไป
๒. แบ่งตามชนิดของแป้งในเมล็ดที่บริโภค เป็นข้าวเจ้า และข้าวเหนียว ข้าวเจ้าและข้าวเหนียวมีต้น และลักษณะอย่างอื่นเหมือนกันทุกอย่าง แต่แตกต่างกันที่
  • เมล็ดข้าวเจ้า ประกอบด้วยแป้งอะมิโลส (amylose) ประมาณ ๑๕-๓๐ เปอร์เซ็นต์
  • เมล็ดข้าวเหนียว ประกอบด้วยแป้งอะมิโลเพทิน (amylopectin) เป็นส่วนใหญ่ และมีอะมิโลเป็นส่วนน้อย ประมาณ ๕-๗ เปอร์เซ็นต์ แป้งอะมิโลเพทินทำให้เมล็ดข้าวมีความเหนียว เมื่อหุงต้มสุกแล้ว

ประโยชน์ของข้าว

ข้าวซึ่งแบ่งออกเป็นข้าวเหนียว และข้าวเจ้านั้น นอกจากจะใช้บริโภคเป็นอาหารหลักประจำวันของประชาชนแล้ว ยังใช้ทำเป็นอาหารหวานชนิดต่างๆ ทำเป็นแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า และทำเส้นก๋วยเตี๋ยวอีกด้วย โดยเฉพาะข้าวเหนียวใช้ทำเป็นของหวานมากกว่าข้าวเจ้า ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตแอลกอฮอล์ก็ได้เอาข้าวเหนียวไปหุงแล้วผสมกับน้ำตาล และเชื้อยีสต์ เพื่อทำให้เกิดการหมัก (fermentatio n) โดยมีจุดประสงค์ให้ยีสต์เปลี่ยนแป้งเป็นแอลกอฮอล์ สำหรับใช้ผลิตวิสกี้ และอื่นๆ นี่คือประโยชน์ของข้าวที่ใช้ในประเทศไทย และส่งเป็นสินค้าขาออกไปขายต่างประเทศ


ลักษณะของข้าวที่สำคัญทางการเกษตร

เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการให้ผลิตผลสูงของต้นข้าวในท้องที่ที่ปลูก การทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเสมอๆ ตลอดถึงคุณภาพของเมล็ดข้าว ฉนั้น พันธุ์ข้าวที่ดีจะต้องมีลักษณะเหล่านี้ดี และเป็นที่ต้องการของชาวนา และตลาด ลักษณะที่สำคัญๆ มีดังนี้

๑. ระยะพักตัวของเมล็ด (seed dormancy)

เมล็ดที่เก็บเกี่ยวมาจากต้นใหม่ๆ เมื่อเอาไปเพาะมักจะไม่งอกทันที มันจะต้องใช้เวลาสำหรับฟักตัวอยู่ระยะหนึ่ง ประมาณ ๑๕ - ๓๐ วัน จึงจะมีความงอก ถึง ๘๐ หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาหลังจากเก็บเกี่ยวที่เมล็ดไม่งอกนี้ เรียกว่า ระยะฟักตัวของเมล็ด ข้าวพวกอินดิคา แทบทุกพันธุ์มีระยะฟักตัวของเมล็ด แต่ข้าวพวกจาปอนิคานั้น ไม่มีระยะฟักตัว ระยะฟักตัวมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเป็นประโยชน์สำหรับชาวนาในเขตร้อน ซึ่งมีฝนตกและมีความชื้นของอากาศสูง ในฤดูเก็บเกี่ยว เพราะข้าวที่ไม่มีระยะฟักตัวของเมล็ด จะงอกทันทีเมื่อได้รับความชื้น หรือเมล็ดเปียกน้ำฝน ส่วนข้าวที่มีระยะฟักตัว มันจะไม่งอกในสภาพดังกล่าว ซึ่งชาวนาจะได้รับผลิตผลเต็มที่ตามที่เก็บเกี่ยวได้

๒. ความไวต่อช่วงแสง (sensitivity tophotoperiod)

ระยะความยาวของกลางวันมีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ดังนั้น พันธุ์ข้าวจึงแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด โดยถือเอาความไวต่อช่วงแสง หรือระยะความยาวของกลางวันเป็นหลัก คือ ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง

๑) ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ข้าวพวกนี้ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีกลางวันสั้น ปกติเราถือว่า กลางวันมีความยาว ๑๒ ชั่วโมง และกลางคืน มีความยาว ๑๒ ชั่วโมง ฉะนั้น กลางวันที่มีความยาว น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันสั้น และกลางวันที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันยาว และพบว่า ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงในประเทศไทย มักจะเริ่มสร้างช่อดอก และออกดอกในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ ๑๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที หรือสั้นกว่านี้ ดังนั้น ข้าวที่ออกดอกได้ในเดือนที่มีความยาวของกลางวัน ๑๑ ชั่วโมง ๔๐ - ๕๐ นาที จึงได้ชื่อว่า เป็นข้าวที่มีความไว้น้อยต่อช่วงแสง (less sensitive to photoperiod) และพันธุ์ที่ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ ๑๑ ชั่วโมง ๑๐ - ๒๐ นาที ก็ได้ชื่อว่าเป็นพันธุ์ที่มีความไวมากต่อช่วงแสง (strongly sensitive to photoperiod) ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกข้าวว่า พืชวันสั้น (short-day plant) พันธุ์ข้าว ในประเทศไทยที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อช่วงแสง โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ

๒) ข้าวที่ไม่ไวต่อแสง การออกดอกของข้าวพวกนี้ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวได้มีระยะเวลาการเจริญเติบโตครบตามกำหนด ต้นข้าวก็จะออกดอกทันที ไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้น หรือยาว พันธุ์ข้าว กข.๑ เป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อมีอายุเจริญเติบโตนับจากวันตกกล้าครบ ๙๐ - ๑๐๐ วัน ต้นข้าวก็จะออกดอก ฉะนั้น พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง จึงใช้ปลูกได้ผลดี ทั้งในฤดูนาปรัง และนาปี อย่างไรก็ตาม พวกไม่ไวต่อช่วงแสงมักจะให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง

๓. ความสามารถในการขึ้นน้ำและการทนน้ำลึก (floationg ability and tolerence to deep water)

ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยชนิดข้าวไร่ และข้าวนาสวน ไม่จำเป็นต้อนมีความสามารถในการขึ้นน้ำ หรือการทนน้ำลึก เพราะพื้นที่ปลูกนั้นไม่มีน้ำลึก แต่พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาเมืองนั้น จำเป็นต้อนมีความสามารถในการขึ้นน้ำ และต้องทนน้ำลึกด้วย เพราะระดับน้ำในนาเมืองในระยะต้น ข้าวกำลังเจริญเติบโตทางลำต้น และออกรวง มีความชื้นประมาณ ๘๐ - ๓๐๐ เซนติเมตร โดยเฉพาะในระหว่างเดือนกันยายน และต้นเดือนธันวาคม ปกติชาวนาที่ปลูกข้าวนาเมือง จะต้องลงมือไถนาเตรียมดิน และหว่านเมล็ดพันธุ์ในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม เพราะในระยะนี้ดินแห้ง น้ำไม่ขังในนา ซึ่งเหมาะสำหรับการเตรียมดิน และหว่านเมล็ดพันธุ์ เมื่อฝนตกลงมา หลังจากที่ได้หว่านเมล็ดแล้ว เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปจะงอกเป็นต้นกล้า และเจริญเติบโตในดินที่ไม่มีน้ำขังนั้น จนถึงเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม ฉะนั้น ข้าวพวกนี้จึงมีสภาพคล้ายข้าวไร่ในระยะแรกๆ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ฝนจะเริ่มตกหนักขึ้นๆ และระดับน้ำในนาก็จะสูงขึ้นๆ จนมีความลึกประมาณ ๘๐ - ๓๐๐ เซนติเมตร ในเดือนกันยายน แล้วระดับน้ำลึกนี้ก็จะมีอยู่ในนาอย่างนี้ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม หลักจากนั้น ระดับน้ำก็จะเริ่มลดลงกระทั่งแห้งในเดือนมกราคม ด้วยเหตุนี้ ต้นข้าวจะต้องเจริญเติบโตทางความสูงในระยะที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้มีส่วนของลำต้น และใบจำนวนหนึ่ง อยู่เหนือระดับน้ำ ความสามารถของต้นข้าวในการเจริญเติบโตให้มีต้นสูง เพื่อหนีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้ เรียกว่า ความสามารถในการขึ้นน้ำของต้นข้าว เนื่องจากต้นข้าวจะต้องอยู่ในน้ำที่มีความลึกมากอย่างนี้เป็นเวลา ๒ - ๓ เดือน ก่อนที่ต้นข้าวจะออกรวงจนแก่เก็บเกี่ยวได้ ในต้น หรือกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ระดับน้ำในนาได้ลดลงเกือบแห้ง ฉะนั้น ความสามารถของต้นข้าวที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำลึกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวนี้ จึงเรียกว่า การทนน้ำลึก ดังนั้น การขึ้นน้ำ และการทนน้ำลึก จึงเป็นลักษณะที่จำเป็นยิ่งของพันธุ์ข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ

๔. คุณภาพของเมล็ด (grain quality)

คุณภาพของเมล็ดแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทประกอบด้วยกัน คือ คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ ซึ่งหมายถึง ลักษณะรูปร่าง และขนาดของเมล็ดที่มองเห็นได้
และคุณภาพเมล็ดทางเคมี ซึ่งหมายถึง องค์ประกอบทางเคมีที่รวมกันเป็นเม็ดแป้งของข้าวที่หุงต้มเพื่อบริโภค

๕. ลักษณะรูปต้น (plant type)

นักวิชาการเรื่องข้าวได้ศึกษาพบว่า ต้นข้าว จะให้ผลิตผลสูง หรือต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปต้นของข้าว เพราะรูปต้นของข้าวมีความสัมพันธ์กับการใช้ปุ๋ย หรือที่เรียกว่า การตอบสนองต่อปุ๋ย และการเปลี่ยนแร่ธาตุอาหารจาปุ๋ยให้เป็นแป้ง ซึ่งใช้ในการสร้างส่วนต่างๆ ของต้น และเมล็ดข้าว พันธุ์ข้าวที่ให้ผลิตผลสูง จะต้องมีลักษณะรูปต้นที่สำคัญๆ ดังนี้

๑) ใบมีสีเขียวแก่ ตรง ไม่โค้งงอ แผ่นใบไม่กว้าง และไม่ยาวจนเกินไป

๒) ความสูงของต้นประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ เซนติเมตร ความสูงของต้นเป็นระยะตั้งแต่พื้นดินถึงปลายของรวงที่สูงที่สุด

๓) ลำต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย

๔) แตกกอมาก และให้รวงมาก

๖. ความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว (resistance to diseases and insects)

พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะรูปต้นดี ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยสูง ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลิตผลสูงได้ ถ้าพันธุ์นั้นไม่มีความต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูที่ระบาดในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ลักษณะต้านทานต่อโรค และแมลงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ความต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูของต้นข้าวนั้น เป็นผลที่เกิดจากปฏิกิริยาทางพันธุศาสตร์ ระหว่างพันธุกรรมของต้นข้าว และเชื้อโรค หรือแมลง ซึ่งเป็นวิชาการอีกแขนงหนึ่งที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่น  


การปลูกข้าว

การปลูกข้าวเป็นงานที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว จนถึงกับได้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการทำนาปลูกข้าวของแต่ละปี จะได้เป็นสิริมงคลต่อพสกนิกรผู้ปลูกข้าว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตรเป็นพระยาแรกนา ทำการไถ และหว่านเมล็ดข้าว ชาวนาจะเก็บเมล็ดพันธุ์นี้ไปรวมกับเมล็ดพันธุ์ที่เขาใช้ปลูก เพราะถือว่าเป็นสิริมงคลยิ่ง
วิธีการปลูกข้าว การทำนา หมายถึง การปลูกข้าว การปลูกข้าวในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ วิธีด้วยกันดังนี้

๑) การปลูกข้าวไร่ หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอน และไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก

๒) การปลูกข้าวนาดำ เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน ตอนแรก ได้แก่ การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก และตอนที่สอง ได้แก่ การถอนต้นกล้าเอาไปปักดำในนาผืนใหญ่

๓) การปลูกข้าวนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นที่นาที่ได้ไถเตรียมดินไว้


การดูแลรักษา

ในระหว่างการเจริญเติบโตของต้นข้าว ตั้งแต่การหยอดเมล็ดเพื่อปลูกข้าวไร่ การหว่านเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นกล้า การปักดำ เพื่อให้ได้รวงข้าว และการหว่านเมล็ดในการปลูกข้าวนาหว่าน ต้นข้าวต้องการน้ำและปุ๋ย สำหรับการเจริญเติบโต ในระยะนี้ ต้นข้าวอาจถูกโรค และแมลงศัตรูข้าวหลายชนิดเข้ามาทำลายต้นข้าว โดยทำให้ต้นข้าวแห้งตาย หรือผลิตผลต่ำ และคุณภาพเมล็ดไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้น นอกจากจะมีวิธีการปลูกที่ดีแล้ว จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาที่ดีอีกด้วย ผู้ปลูกจะต้องหมั่นออกไปตรวจดูต้นข้าวที่ปลูกไว้เสมอๆ ในแปลงที่ปลูกข้าวไร่จะต้องมีการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย และพ่นยาเคมีเพื่อป้องกัน และกำจัดโรค และแมลงศัตรูที่อาจเกิดระบาดขึ้นได้ ในแปลงกล้า และแปลงปักดำ จะต้องมีการใส่ปุ๋ย มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของต้นข้าว และพ่นยาเคมีป้องกัน กำจัดโรค และแมลงศัตรูข้าว นอกจากนี้ ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปักดำอีกด้วย เพราะวัชพืชเป็นตัวที่แย่งปุ๋ยไปจากต้นข้าว ในพื้นที่นาหว่าน ชาวนาจะต้องกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมื หรือจะใช้แรงคนถอนทิ้งไปก็ได้ นอกจากนี้จะต้องพ่นสารเคมี เพื่อป้องกัน กำจัดโรค และแมลงอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่นาหว่านมักจะมีระดับน้ำลึกกว่านาดำ ฉะนั้นชาวนาควรใส่ปุ๋ยก่อนที่น้ำจะลึก ยกเว้นในพื้นที่ที่น้ำไม่ลึกมาก ก็ให้ใส่ปุ๋ยแบบนาดำทั่วๆ ไป




การเก็บเกี่ยว

เมื่อดอกข้าวบาน และมีการผสมเกสรแล้ว หนึ่งสัปดาห์ ภายในที่ห่อหุ้มด้วยเปลือกนอกใหญ่ ก็จะเริ่มเป็นแป้งเหลวสี่ขาว ในสัปดาห์ที่สอง แป้งเหลวนั้นก็จะแห้ง กลายเป็นแป้งค่อนข้างแข็ง และในสัปดาห์ที่สาม แป้งก็จะแข็งตัวมากยิ่งขึ้น เป็นรูปร่างของเมล็ดข้าวกล้อง แต่มันจะแก่เก็บเกี่ยวได้ในสัปดาห์ที่สี่ นับจากวันที่ผสมเกสร จึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่า เมล็ดข้าวจะแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ หลังจากออกดอกแล้วประมาณ ๓๐-๓๕ วัน

ชาวนาในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางใช้เคียวสำหรับเกี่ยวข้าวทีละหลายๆ รวง ส่วนชาวนาในภาคใต้ใช้แกระ สำหรับเกี่ยวข้าวทีละรวง เคียวที่ใช้เกี่ยวข้าวมีอยู่ ๒ ชนิด ได้แก่ เคียวนาสวน และเคียวนาเมือง

เคียวนาสวนเป็นเคียววงกว้าง ใช้สำหรับเกี่ยวข้าวนาสวน ซึ่งปลูกแบบปักดำ แต่ถ้าผู้ใช้มีความชำนาญก็อาจเอาไปใช้เกี่ยวข้าวนาเมืองก็ได้ ส่วนเคียวนาเมืองเป็นเคียววงแคบ และมีด้ามยาวกว่าเคียวนาสวน เคียวนาเมืองใช้เกี่ยวข้าวนาเมือง ซึ่งปลูกแบบหว่าน ข้าวที่เกี่ยวด้วยเคียวไม่จำเป็นต้องมีคอรวงยาว เพราะข้าวที่เกี่ยวมาจะถูกรวบมัดด้วยตอซัง หรือตอกไม้ไผ่ เป็นกำๆ ส่วนข้าวที่เกี่ยวด้วยแกระจำเป็นต้องมีคอรวงยาว เพราะชาวนาต้องเกี่ยวเฉพาะรวงทีละรวงแล้วมัดเป็นกำๆ ซึ่งเรียกว่า เรียง ข้าวที่เกี่ยวด้วยแกระ ชาวนาจะเก็บไว้ในยุ้งฉางซึ่งโปร่ง มีอากาศถ่ายเทคได้สะดวก และจะทำการนวด เมื่อต้องการขาย หรือต้องการสีเป็นข้าวสาร ข้าวที่เกี่ยวด้วยเคียว ชาวนาจะทิ้งไว้บนตอซังในนา เพื่อตากแดดให้แห้ง เป็นเวลานาน ๓ - ๕ วัน หรือจะตากบนราวไม้ไผ่ก็ได้ แล้วจึงขนมาที่ลานสำหรับนวด ข้าวที่นวดแล้วจะถูกขนย้ายไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง หรือส่งไปขายที่โรงสีทันที


การนวดข้าว

หมายถึง การเอาเมล็ดข้าวออกจากรวง แล้วทำความสะอาด เพื่อแยกเมล็ดข้าวลีบ และเศษฟางข้าวออกไป เหลือไว้เฉพาะเมล็ดข้าวเปลือกที่ต้องการเท่านั้น ขั้นแรกจะต้องตากข้าวให้แห้งเสียก่อน การกองข้าวสำหรับตากก็มีหลายวิธี แต่หลักสำคัญมีอยู่ว่า การกอง จะต้องเป็นระเบียบ ถ้ากองไม่เป็นระเบียบ มัดข้าวจะอยู่สูงๆ ต่ำๆ ชาวนามักจะกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่เป็นระเบียบ เพื่อจะทำให้ความชื้นค่อยๆ ลดลง แล้วความแข็งแกร่งของเมล็ดก็จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย และเมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนก็ไม่อาจจะไหลเข้าไปในกองข้าว หลังจากนั้นก็ขนไปที่ลานนวดข้าว แล้วเรียงไว้เป็นชั้นๆ เป็นรูปวงกลม

การทำความสะอาดเมล็ด

เมล็ดข้าวที่ได้มาจากการนวด จะมีสิ่งเจือปนหลายอย่าง เช่น ดิน กรวด ทราย เมล็ดลีบ ฟางข้าว ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ฉะนั้น ชาวนาจะต้องทำความสะอาดเมล็ดก่อนที่จะเอาข้าวเปลือกเก็บไว้ในยุ้งฉาง หรือขายให้กับพ่อค้า การทำความสะอาดเมล็ดก็หมายถึง การเอาข้าวเปลือกออกจากสิ่งเจือปนอื่นๆ ซึ่งทำได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • การสาดข้าว ใช้พลั่วสาดเมล็ดข้าวขึ้นไปในอากาศ เพื่อให้ลมพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป ส่วนเมล็ดข้าวเปลือกที่ดี ก็จะตกมารวมกันเป็นกองที่พื้นดิน
  • การใช้กระด้งฝัด โดยใช้กระด้งแยกเมล็ดข้าวดี และสิ่งเจือปนให้อยู่คนละด้านของกระด้ง แล้วฝัดเอาสิ่งเจือปนทิ้ง วิธีนี้ใช้กับข้าวที่มีปริมาณน้อยๆ 
  • การใช้เครื่องสีฝัด เป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้หลักการให้ลมพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป โดยใช้แรงคนหมุนพัดลมในเครื่องสีฝัดนั้น พัดลมนี้อาจใช้เครื่องยนต์เล็กๆ หมุนก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำความสะอาดเมล็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง 
การตากข้าว
เพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดข้าวให้ได้มาตรฐานอยู่เป็นเวลานานๆ หลังจากนวด และทำความสะอาดเมล็ดข้าวแล้ว จึงจำเป็นต้องเอาข้าวเปลือกไปตากอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเอาไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ทั้งนี้เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวเปลือกที่แห้ง และมีความชื้นของเมล็ดประมาณ ๑๓ - ๑๕ % เมล็ดข้าวในยุ้งฉางที่มีความชื้นสูงกว่านี้จะทำให้เกิดความร้อนสูงจนคุณภาพข้าวเสื่อม นอกจากนี้ จะทำให้เชื้อราต่างๆ ที่ติดมากับเมล็ดขยายพันธุ์ได้ดี จนสามารถทำลายเมล็ดข้าวเปลือกได้เป็นจำนวนมาก การตากข้าวในระยะนี้ ควรตากบนลานที่สามารถแผ่กระจายเมล็ดข้าวให้ได้รับแสงแดดโดยทั่วถึงกัน และควรตากไว้นานประมาณ ๓ - ๔ แดด ในต่างประเทศ เขาใช้เครื่องอบข้าว เพื่อลดความชื้นในเมล็ด (drier) โดยให้เมล็ดข้าวผ่านอากาศร้อน ประมาณ ๑๐๐ - ๑๓๐ องศาฟาเรนไฮต์ จำนวน ๓ - ๔ ครั้ง แต่ละครั้งควรห่างกันประมาณ ๒๐ - ๒๔ ชั่วโมง


การเก็บรักษาข้าว

หลังจากชาวนาได้ตากเมล็ดข้าวจนแห้ง และมีความชื้นในเมล็ดประมาณ ๑๓ - ๑๕ % แล้วนั้น ชาวนาจะเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อไว้บริโภค และแบ่งขายเมื่อข้าวมีราคาสูง และอีกส่วนหนึ่งชาวนาจะแบ่งไว้ทำพันธุ์ ฉะนั้นข้าวพวกนี้จะต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี โดยรักษาให้ข้าวนั้นมีคุณภาพได้มาตรฐานอยู่ตลอดเวลา และไม่สูญเสียความงอก ข้าวพวกนี้ควรเก็บไว้ในยุ้งฉาง ยุ้งฉางที่ดีจะต้องเป็นยุ้งฉางที่ทำด้วยไม้ยกพื้นสูงจากพื้นดิน อย่างน้อย ๑ เมตร อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อจะได้ระบายความชื้น และความร้อนออกไปจากยุ้งฉาง นอกจากนี้หลังคาของฉางจะต้องไม่รั่ว กันน้ำฝนไม่ให้หยดลงไปในฉางได้เป็นอันขาด ก่อนเอาข้าวขึ้นไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง จำเป็นต้องทำความสะอาดฉางเสียก่อน โดยปัดกวาดแล้วพ่นด้วยยาฆ่าแมลง 


การปลูกข้าวในภาคต่างๆ ของประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกสิกร ทำการเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ทำการปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน ส้ม มะม่วง มังคุด ลางสาด นอกจากนี้ ในท้องที่ต่างๆ ของภาคใต้ และจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ได้ทำการปลูกยางพาราอีกด้วย ในจำนวนพืชที่กสิกรปลูกดังกล่าวนี้ ข้าวมีพื้นที่ปลูกมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๑๑.๓ % ของพื้นที่ทั่วประเทศ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทำนามากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ

ภาคเหนือ

ทำการปลูกข้าวนาสวนในที่ราบระหว่างภูเขากันเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีระดับน้ำในนาตื้นกว่า ๘๐ เซนติเมตร และทำการปลูกข้าวไร่ในที่ดอน และที่สูงบนภูเขา เพราะไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ส่วนมากชนิดของข้าวที่ปลูกเป็นทั้งข้าวเหนียว และ ข้าวเจ้า และในบางท้องที่มีการปลูกข้าวนาปรังด้วย แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ได้แก่ แมลงบั่ว หนอนกอ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และสีน้ำตาล และโรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบสีแสด และโรคถอดฝักดาบ ภาคนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของดินนาดีกว่าภาคอื่นๆ ข้าวนาปีทำการเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สภาพของพื้นนาในภาคนี้เป็นที่ราบ และมักจะแห้งแล้งในฤดูปลูกข้าวเสมอๆ ชาวนาทำการปลูกข้าวนาสวน ทางตอนเหนือของภาคปลูกข้าวเหนียวอายุเบา ส่วนทางตอนใต้ปลูกข้าวเจ้าอายุหนัก แถบริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม และสกลนคร ได้มีแมลงบั่วทำลายต้นข้าวนาปีจนเสียหายเสมอ นอกจากนี้ ได้มีแมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดด้วย โรคข้าวที่สำคัญได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และโรคใบจุดสีน้ำตาล ความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคนี้เลวมาก บางแห่งก็เป็นดินเกลือ และมักจะมีความแห้งแล้งกว่าภาคอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการทำนาปรังน้อยมาก ข้าวนาปีจะทำการเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนตุลาคม และธันวาคม

ภาคกลาง


พื้นที่ทำนาในภาคนี้เป็นที่ราบลุ่ม ทำการปลูกข้าวเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ ในเขตจังหวัด ปทุมธานี อยุยา อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัย ธานี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี ระดับน้ำในนาระหว่างเดือนกันยายน และพฤศจิกายน จะลึกประมาณ ๑-๓ เมตร ด้วยเหตุนี้ ชาวนาในจังหวัดดังกล่าวจึงต้องปลูกข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ นอกนั้นปลูกข้าวนาสวน และบางท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน เช่น จังหวัดนนทบุรี นครปฐม เพชรบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท และฉะเชิงเทรา ได้มีการทำนาปรังด้วย โรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคจู๋ และแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ได้แก่ แมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียว แมลงหนอนกอ ความอุดมสมบูรณ์ของดินดีปานกลาง และบางท้องที่เขตจังหวัดปทุมธานี นครนายก และปราจีนบุรี ดินที่ปลูกข้าวมีฤทธิ์เป็นกรด หรือเป็นดินเหนียวมากกว่าในท้องที่นาอื่นๆ ข้าวนาปีที่ปลูกเป็นข้าวนาสวน จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนตุลาคม และธันวาคม ส่วนข้าวนาปีที่ปลูกเป็นข้าวนาเมือง เก็บเกี่ยวระหว่างเดือนธันวาคม และมกราคม

ภาคใต้


สภาพพื้นที่ที่ปลูกข้าวในภาคใต้เป็นที่ราบริมทะเล และเป็นที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนใหญ่ใช้น้ำฝนในการทำนา และฝนจะมาล่าช้ากว่าภาคอื่นๆ ด้วยเหตุนี้การทำนาในภาคใต้จึงล่าช้ากว่าภาคอื่น ชาวนาในภาคนี้ปลูกข้าวเจ้าในฤดูนาปีกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยในเขตชลประทานของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีการปลูกข้าวนาปรัง และปลูกแบบนาสวน บริเวณพื้นที่ดอน และที่สูงบนภูเขาชาวนาปลูกข้าวไร่ เช่น การปลูกข้าวไร่เป็นพืชแซมยางพารา แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญได้แก่ หนอนกอ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคดอกกระถิน โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคใบจุดขีดสีน้ำตาล นอกจากนี้ ดินนาก็มีปัญหาเกี่ยวกับดินเค็ม และดินเปรี้ยวด้วย วิธีการเกี่ยวข้าวในภาคใต้แตกต่างไปจากภาคอื่น เพราะชาวนาใช้แกระเกี่ยวข้าว โดยเก็บทีละรวงแล้วมัดเป็นกำๆ ปกติทำการเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน และกุมภาพันธ์


การปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลิตผลสูง

ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญหลายอย่าง การปลูกข้าวพันธุ์ดีเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงนั้นควรปฏิบัติดังนี้

๑. การเตรียมดิน 
๒. การเลือกใช้ต้นกล้าปักดำ
๓. เวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหรือปักดำ
๔. ระยะปลูก
๕. การใส่ปุ๋ย
๖. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
๗. การกำจัดวัชพืช
๘. การรักษาระดับน้ำในนา
การใช้ปุ๋ยในนาข้าว
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ปุ๋ย คือ อาหารของพืช เช่น ข้าว พื้นที่นาที่ใช้ปลูกข้าวติดต่อกันมาเป็นเวลานาน จนแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นอาหารของต้นข้าวถูกดึงดูดเอาไปสร้างเป็นต้น และเมล็ดข้าวหมดลง ทำให้แร่ธาตุเหล่านี้ขาดแคลนไปจากพื้นนา ข้าวที่ปลูกในระยะหลังจึงให้ผลิตผลต่ำ ดังนั้น ชาวนาจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยใส่ลงไปในนาข้าวในปัจจุบัน เพื่อจะได้ผลิตผลสูงและมีรายได้มากยิ่งขึ้นจนพอกับความต้องการของครอบครัว 


โรคข้าว

โรคข้าวที่ระบาดทำลายต้นข้าวจนเสียหายนั้น เกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อรา เชื้อบักเตรี และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ไส้เดือนฝอย ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก็สามารถทำให้ต้นข้าวเกิดเป็นโรคได้ด้วย เพราะฉะนั้น โรคข้าวที่สำคัญๆ จะแบ่งออกได้เป็นพวกๆ ดังนี้

 

โรคไหม้
โรคใบจุดสีน้ำตาล

โรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคถอดฝักดาบ โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคดอกกระถิน

โรคที่เกิดจากเชื้อบัคเตรี
โรคที่สำคัญๆ ได้แก่ โรคขอบใบแห้ง โรคใบขีด โปร่งแสง

โรคขอบใบแห้ง

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคที่สำคัญๆ ได้แก่ โรคใบสีส้ม โรคใบสีแสด โรคเหลืองเตี้ย โรคเขียวเตี้ย และโรคจู๋ อย่างไรก็ตาม โรคเหล่านี้บางโรคต่อมาได้พบว่า ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมา (microplasma)

โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรครากปม


เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
แมลงศัตรูข้าว

แมลงศัตรูข้าวมีหลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญ และระบาดเสมอๆ ได้แก่  เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้กล้า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียว แมลงบั่ว หนอนกอ หนอนม้วนใบ แมลงสิง และหนอนกระทู้คอรวง  


หนู

หนูเป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของข้าว เพราะหนูได้กัดกินต้นข้าวในระยะแตกกอ ระยะตั้งท้อง และระยะที่เมล็ดแก่เก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ หนูยังได้กินเมล็ดข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งฉางอีกด้วย หนูที่เป็นศัตรูทำลายข้าว ได้แก่ หนูพุกเล็ก หนูนา หนูสวน หนูจิ๊ด หนูขยะ และหนูหริ่ง หนูเหล่านี้มีขนาดตัว และสีของขนแตกต่างกัน


ปูนา

ปูนาเป็นศัตรูของข้าว เพราะปูได้กัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ ทำให้ชาวนาต้องปักดำซ้ำหลายครั้ง นอกจากนี้ ปูยังทำให้คันนาเป็นรูอีกด้วย  


นก

นกทำลายข้าวโดยกินเมล็ดข้าวในระยะที่ข้าวออกรวง นกจะกินเมล็ดข้าวทั้งในระยะที่เป็นน้ำนมและเป็นเมล็ดแก่ นอกจาก นี้ นกยังกินเมล็ดข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งฉางอีกด้วย นกที่เป็นศัตรูข้าวที่สำคัญ ได้แก่ นกกระติ๊ด นกกระจาบ และนกกระจอก 


วัชพืชในนาข้าว

หมายถึง พืชอื่นทุกชนิดที่เกิดขึ้นในนาที่ได้ปลูกข้าวไว้ มีวัชพืชหลายชนิดในนาที่ปลูกข้าวในประเทศไทย นาบางแห่งมีวัชพืชมาก นาบางแห่งมีวัชพืชน้อย และนาแต่ละแห่งก็มีวัชพืชชนิดต่างกันด้วย เพราะการเกิดของวัชพืชในนาข้าวนั้นแตกต่างกันไปตามท้องที่ และวิธีการทำนาปลูกข้าว ปกตินาหว่านมีวัชพืชมากกว่านาดำ เพราะนาดำมีการเตรียมดินดีกว่า และมีการเก็บวัชพืชออกไปจากแปลงนาก่อนการปักดำด้วย

วัชพืชที่เกิดมีขึ้นในนาข้าวในบ้านเราแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

    • วัชพืชในนาที่เป็นที่ดอน
    • วัชพืชในนาที่เป็นที่ลุ่มปานกลาง
    • วัชพืชในนาที่เป็นที่ลุ่มมาก
การปรับปรุงพันธุ์ข้าว

พันธุ์ข้าวที่ดีจะให้ผลิตผลสูง และมีคุณภาพดีกว่าพันธุ์ข้าวที่ไม่ดี และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า พันธุ์ข้าวที่ดีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการเกษตรแผนใหม่ ซึ่งการเกษตรแผนใหม่มีจุดประสงค์ที่จะปลูกพืชที่ตลาดต้องการให้ได้ผลิตผลสูง และทำรายได้ที่คุ้มค่าให้กับกสิกรผู้ปลูก

การเกษตรแผนใหม่ มีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
    • การปลูกพืชพันธุ์ดี และเหมาะสมกับท้องถิ่น
    • การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน
    • การปราบวัชพืช
    • การป้องกันกำจัดโรค และแมลงศัตรูพืช
    • การชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของพืช
โดยเหตุนี้การปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ดี จึงมีความสำคัญยิ่ง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมนุษย์มีนิสัยอยากจะได้ของที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม วิธีการปรับปรุงพันธุ์ในสมัยก่อน และในสมัยปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกันมากมาย เพราะมนุษย์ในปัจจุบันได้เรียนรู้ถึงวิชาการต่างๆ มากกว่าในสมัยก่อน ฉะนั้น วิธีการปรับพันธุ์ข้าวในปัจจุบันจึงดีกว่าสมัยก่อน และงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวในปัจจุบัน สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งวิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวพอสรุปได้ดังนี้
    • การเอาพันธุ์ข้าวจากท้องที่ต่างๆ เข้ามาปลูก
    • การคัดเลือกพันธุ์
    • การผสมพันธุ์
    • การชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม โดยใช้สารเคมีหรือกัมมันตภาพรังสี 
 
   

 

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

รายชื่อบุคลากรผู้ทรงความรู้ในแต่ละชุมชนเมืองน่าน

บล็อกนี้จะรวบรวมรายชื่อ ข้อมูลที่จะเก็บไว้ไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังหากมีโอกาส
  1. พ่อเกียรติ คำแสน ปราชญ์ชาวบ้านผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้บริษัทเจียไต๋ และผสมพันธุ์ข้าว อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 5 ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 55140 เบอร์โทรศัพท์มือถือ 081-0350847
  2. โรงเรียนชาวนา บ้านทุ่งฆ้อง ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน

ข้าวธัญสิริน

ที่มา: เปิดตัวข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน “ธัญสิริน” ต้านทานโรคไหม้
       หลังจากให้เกษตรกรภาค เหนือ-อีสานทดลองปลูกข้าวเหนียว กข 6 ที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมทำให้ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเพิ่มผลผลิตและลดความเสียหายจากปัญหาข้าวล้ม ล่าสุดข้าวพันธุ์ดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยได้รับพระราชทานนาม “ธัญสิริน” จากสมเด็จพระเทพฯ
     
       ชาวนาในเขตภาคเหนือและอีสานนิยมปลูกข้าวเหนียวไว้กิน แต่ข้าวเหนียว กข 6 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ดีที่สุดในประเทศนั้น มีปัญหาเรื่องโรคไหม้ ที่ทำให้ต้นกล้าตายและในพื้นที่น้ำน้อยไม่สามารถเพาะปลูกซ้ำได้หากเกิดความ เสียหายจากโรคดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงข้าวเหนียวพันธุ์ดังกล่าวให้ต้านทานต่อโรคไหม้ ด้วยเทคนิคการใช้ยีนเครื่องหมาย (Marker Gene) เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้องการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545-2546 และใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 4 ปี
     
       ปัจจุบันชาวนาใน จ.น่าน เชียงราย ลำปาง สกลนคร ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ได้ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์นี้แทนข้าวเหนียว กข 6 มา 3 ปีแล้ว รวมเป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5,000 ไร่ โดยเฉพาะชาวนาในจังหวัดน่านซึ่งได้รวมกลุ่มกันขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวดัง กล่าว โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 800 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผลผลิตจากการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข และบางพื้นที่ให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 ไร่ โดยเฉพาะแปลงนาอินทรีย์ที่มีการดูแลเป็นพิเศษ
     
       ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวดังกล่าวอธิบายว่า เหตุที่ข้าวเหนียวพันธุ์นี้ ให้ผลผลิตสูงขึ้น เพราะนอกจากข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่จะต้านทานโรคไหม้แล้ว ยังไม่ล้มง่ายเหมือนข้าวเหนียวพันธุ์เดิมที่ชาวนาปลูก จึงทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 พันธุ์ให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน โดยผลผลิต โดยข้าวเหนียว กข 6 เดิมเสียผลผลิตจากข้าวล้มมากถึง 40%
     
       “ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่นี้หุงง่ายกว่าเดิมเพราะไม่ต้องแช่ทิ้งไว้ข้าม คืนเหมือนข้าวเหนียว กข 6 และยังให้เปอร์เซ็นต์ขัดสีสูง คือ เมล็ดไม่หักเมื่อนำไปขัดสีเพราะมีเมล็ดอ้วนกว่าข้าวเหนียวพันธุ์เดิมเล็ก น้อย อีกทั้งรสชาติยังไม่ต่างไปจากเดิมด้วย” ดร.ธีรยุทธกล่าว
     
       หลังจากให้เกษตรกรปลูกมาระยะหนึ่งแล้ว ทีมวิจัยได้ขอพระราชทานนามสำหรับข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่จากสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อกลางปีที่ผ่านมาในช่วงเริ่มต้นฤดูกาล และเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ทีผ่านมา ข้าวเหนียวพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ธัญสิริน” โดยทาง ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จะนำเรื่องข้าวเหนียวพันธุ์นี้เข้ารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขยาย ผลต่อไป


ธัญสิรินพันธุ์ข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน
ที่มา: ธัญสิรินพันธุ์ข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความสำเร็จนักวิจัยไทย พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ต้านทานโรคใบไหม้ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ได้รับพระราชทานนาม "ธัญสิริน" ปลูกแทน กข.6

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ให้มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ว่า "ธัญสิริน"

ข้าวธัญสิริน เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยอาศัยเทคนิคเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 แต่มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ลำต้นแข็งแรงทนการหักล้ม ให้ผลผลิตอยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ลดเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก โดยพื้นที่ปลูกที่เป็นออร์แกนิกส์ สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

“เมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน นำไปทดลองปลูกในนาข้าวของเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง ชัยภูมิ และสกลนคร โดยปลูกแทนข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 เดิม ในช่วงเวลา 3 ปี พบว่าสามารถลดความเสียหายในนาข้าวได้ถึง 30%” นักวิจัยกล่าว

ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในภาคเหนือ และอีสาน นำไปเพาะปลูก

"กระทรวงวิทยาศาสตร์เตรียมนำเสนอข้อมูลผ่านคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสุนนให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก จาก 5,000 ไร่ ไปยังพื้นที่อื่นๆ " ดร.วีระชัย กล่าวและย้ำว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน ไม่ใช่วิธีการดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย

ความรู้เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าว

รวบรวมข้อมูลมาจากหลาย ๆ เว็บ เก็บไว้เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม, ประเภทพันธุ์ข้าวตอนนี้ทางกรมการข้าวได้แยกเป็นประเภทดังนี้


เมล็ดพันธุ์คัด
คุณภาพชั้นสูงสุด ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าว เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเมล็ดพันธุ์หลัก ไม่มีจำหน่าย

เมล็ดพันธุ์หลัก
เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์คัด ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าว แล้วส่งมอบให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย หรือใช้ภายใต้โครงการพิเศษ คุณภาพรองจากพันธุ์คัด

เมล็ดพันธุ์ขยาย
เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์หลัก ผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วจำหน่ายให้สหกรณ์การเกษตร และเอกชน หรือส่งมอบให้ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย คุณภาพรองจากพันธุ์หลัก

เมล็ดพันธุ์จำหน่าย
เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์ขยาย ผลิตโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สหกรณ์การเกษตรกร เอกชน และศูนย์ข้าวชุมชน แล้วจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป คุณภาพรองจากพันธุ์ขยาย

ข้าวเหนียวหอมสกล

ข้าวเหนียวหอมสกล ที่ปลูกช่วงตรุษจีนไปแล้วนั้นยังไม่แน่ใจว่าสายพันธุ์ที่แท้มาจากที่ใด สอบถามพี่สุเรียนก็ได้รับคำตอบว่าเป็นสายพันธุ์พื้นถิ่นที่ถูกปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศเมืองน่านมานานแล้ว

เมื่อศึกษาดูจากเว็บไซต์แล้วพบข้อมูลแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ ก็ต้องสืบค้นต่อไป
ชื่อพันธุ์ - สกลนคร (Sakon Nakhon)
ชนิด - ข้าวเหนียว
คู่ผสม - หอมอ้ม / กข10
ประวัติพันธุ์ - ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์หอมอ้ม กับพันธุ์ กข10 ที่สถานีทดลองข้าวขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2525 ปลูกคัดเลือกที่สถานีทดลองข้าวสกลนครจนได้สายพันธุ์ KKNUR82003-SKN-69-1-1
การรับรองพันธุ์ - คณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อวันที่
22 ธันวาคม 2543


ลักษณะประจำพันธุ์ - เป็นข้าวเหนียว สูงประมาณ 123-146 เซนติเมตร
- ไม่ไวต่อช่วงแสง
- อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 128 วัน
- ทรงกอตั้ง ปล้องและกาบใบสีเขียว มีขนบนใบ ใบธงตั้งตรง
- การร่วงของเมล็ดปานกลาง
- รวงแน่นปานกลาง
- เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 3 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวกล้อง กว้าง x ยาว x หนา = 2.2 x 7.8 x 1.8 มิลลิเมตร
ผลผลิต - ประมาณ 467 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะเด่น - เป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุสั้นกว่าพันธุ์ กข10
- ปลูกได้ทั้งในสภาพนาดอน นาชลประทาน และสภาพไร่ภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือ
- คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม ใกล้เคียง กข6
ข้อควรระวัง - ไม่ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง
- ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
พื้นที่แนะนำ - พื้นที่นาดอน นาชลประทาน และสภาพไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



สงสัยต้องไปสืบค้นจากกลุ่มเกษตรบ้านทุ่งฆ้อง อ.ท่าวังผา จ.น่าน เพิ่มเติมอีกสักหน่อยถึงจะรู้ได้ว่า สายพันธุ์นี้พัฒนามาจากสายพันธุ์

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว

รวบรวมไว้เผื่อไปศึกษาค้นคว้าวันหลัง
  1. สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว 
  2. กรมการข้าว
  3. สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว (สวข)
  4. กรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
  5. สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว
  6. ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว
  7. การวิเคราะห์ต้นทุนข้าว
  8. ประโยชน์ของฟางข้าว
  9. ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ม.เชียงใหม่

ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวพันธุ์อะไร

ประเด็นเรื่องราวที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาและตอนนี้เงียบหายไป สักพักคงรื้อฟื้นข้าวมาอีก เรื่องของการจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ ในยุคกระแสการหวงแหนแสดงตัวเป็นเจ้าของ ทั้ง ๆ ที่ในอดีตข้าวเหล่านี้คือพืชไร่ เป็นพืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว และหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำนาให้มากที่สุด แต่ก็ประสบปัญหาว่าหนังสือพวกนี้มีน้อยมาก คงจำกัดอยู่แต่ในรั้วในเขตสถาบันการวิจัยหรือสถาบันทางการศึกษา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าเศร้าเพราะการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ชาวไร่ ชาวนา ตาดำ ๆ ทำได้ยาก แต่หากเป็นนักวิชาการจากต่างประเทศก็สามารถได้ข้อมูลโดยง่าย แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงกลับไม่ถึงมือชาวบ้าน

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งตกไปอยู่กับนายทุน ที่จะพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาขูดรีด ไถเงินเอากับชาวบ้าน โดยมีหน่วยงานภาครัฐรู้เห็นเป็นใจ ทำตัวเยี่ยงนายหน้าค้ากำไร ช่างอนาถใจยิ่งนัก

กลับมาถึงเรื่องข้าวหอมมะลิ ที่มีวางขายปัจจุบันเป็นข้าวพันธุ์ไหนกันแน่?

กรมการข้าวซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้เน้นการปรับพรุงพันธุ์จากพันธุกรรมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าว กข 15 เป็นหลัก การปรับปรุงก็เน้นเพื่อพัฒนาให้ต้นข้าวทนต่อโรคข้าว แมลงศัตรู และทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

ข้าวหอมมะลิ มีความหอมเนื่องจากมีสาร 2-Acetyl-1-Pryroline แต่ปริมาณสารเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพน้ำและภูมิอากาศ จึงทำให้หลายคนในประเทศไทยยังคงลุ่มหลงว่าข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุดต้องเป็นข้าวจากประเทศไทยเท่านั้น เพราะปัจจัยการเกิดสารความหอมนี่แหละ 

สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อสารความหอมในข้าวหอมมะลิคือ ปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนต้องเหมาะสม สภาพดินเหมาะสม ปริมาณน้ำพอดี อากาศไม่ร้อนมากเกินไป ซึ่งหลัก ๆ ก็เน้นเรื่องการเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพของสารความหอม

แต่เรื่องของชีววิทยาเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สักวันหนึ่งหากมีการค้นคว้าไปเรื่อย ๆ ข้าวที่ปลูกในประเทศอื่น ๆ อาจจะมีความหอมอร่อยกว่าข้าวประเทศไทยก็เป็นได้ หากเรายังยึดติดวังวนของอดีตแล้วไม่พัฒนาศักยภาพต่อไปข้าวหอมมะลิของไทยคงจะกลายเป็นอดีตไปแน่ ๆ

ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่ได้มาโดยนายสุนทร สีหะเนิน เจ้าพนักงานข้าว รวบรวมจากอำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ.2493-2494 จำนวน 199 รวง แล้วนำไปคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure Line Selection) และปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง แล้วปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 4-2-105 ซึ่งเลข 4 หมายถึง สถานที่เก็บรวงข้าว คืออำเภอบางคล้า เลข 2 หมายถึงพันธุ์ทดสอบที่ 2 คือ ขาวดอกมะลิ และเลข 105 หมายถึง แถวหรือรวงที่ 105 จากจำนวน 199 รวง

ข้าวหอมมะลิมีลักษณะพิเศษ คือ มีกลิ่นหอม และเมล็ดอ่อนนุ่ม เมื่อนำมาหุงต้ม และมีการปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ตาม หลักวิชาการจนได้พันธุ์ ข้าวขาวดอกมะลิ 105และรัฐบาลประกาศ ให้ขยายพันธุ์ส่งเสริมการปลูก ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2502 เป็นต้นมา สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวขาว ดอกมะลิ 105 ที่เหมาะสม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางพื้นที่

ลักษณะทั่วไป
  1. เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
  2. เป็นข้าวต้นสูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร
  3. อายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะออกดอกประมาณวันที่ 20 ตุลาคมและสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ประมาณวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี
  4. ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 8 สัปดาห์
  5. ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.1มิลลิเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร
  6. ลักษณะเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดเรียวยาว ก้นงอน สีฟาง
ข้อดี
  1. มีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่มเมื่อนำมาหุงต้ม
  2. ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยวและดินเค็ม
  3. คุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อย
  4. นวดง่าย เนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่าย
  5. เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี
ข้อจำกัด
  1. ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคไหม้และโรคใบหงิก
  2. ไม่ต้านทานแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  3. ต้นอ่อนล้มง่าย ถ้าปลูกในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง
(อ่านเพิ่มเติมใน http://www.sisaket.go.th/WEB_ldd/Plant/Page01.htm)

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

คิดถึงนาข้าว

ผ่านไปแล้ว 3 วันนับจากวันที่ปลูกคือ 24 มกราคม 2555 จิตทั้งหมดคงยึดมั่นอยู่กับต้นข้าวอยากเห็นว่าเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ต้องกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ จึงต้องรออีกประมาณ 4-5 วันเพื่อกลับไปดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการตรวจแปลง ตามหลักวิธีการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่หลัก ๆ ก็ต้องฝากกับคนที่ดูแล และให้พี่ชายดูแลต่ออีกที เพราะเราเองไม่มีเวลาขึ้นไปดูแลด้วยตนเองเสียแล้ว

วันนี้คงไปซื้อเครื่องสูบน้ำใหม่ 1 เครื่อง เพื่อสูบเอาน้ำเข้านาเพราะตอนนี้ปล่อยน้ำออกไปมากพอสมควร เพราะต้นข้าวยังเล็กมาก อีกทั้งปัญหาเรื่องหอยเชอรี่ คนที่ดูแลออกไปจับทุกคืน คืนหนึ่งก็ได้ประมาณ 1 ถังขนาดย่อม นี่ขนาดเป็นข้าวนาปรัง หากเป็นนาปีที่อุดมไปด้วยหอย ปู จะเป็นอย่างไร

ปัญหาตอนนี้คือเรามองไม่เห็นว่าที่นาเป็นอย่างไรบ้าง กำลังคิดถึงจะเอากล้องวงจรปิดไปติดตั้งไว้เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการ แต่ดู ๆ แล้ว IP Camera ก็แพงเอาการ หากเจอถูก ๆ ดี ๆ คงไม่พลาดที่จะนำไปใช้เพื่อให้หายคิดถึง

กลับมานั่งทบทวนค่าใช้จ่ายตอนนี้เอาเฉพาะหลัก ๆ ไม่คิดค่าเดินทางจากกรุงเทพฯ ไป-กลับ และค่ากินใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเรา คิดเฉพาะส่วนที่จ้างหลัก ๆ ในการทำนาก่อนแล้วกัน
  1. ค่าไถ 3,000 บาท 
  2. ค่าสูบน้ำเข้านา 800 บาท
  3. ค่าจ้างปลูก 1,350 บาท
  4. ค่าใช้น้ำมันและอื่น ๆ ให้พี่ชาย 1,000 บาท
หลังจากปลูกไปแล้วก็ใช้เงินไป 6,150 บาท ส่วนค่าเครื่องสูบน้ำคงไม่คิดเพราะเป็นเครื่องสูบสำหรับใช้กับสวนส้มด้วย แต่หากนำมาใช้ก็จะคิดค่าน้ำมันและลองคิดค่าเช่าไปในตัว (แต่ไม่ได้จ่ายจริง)

ก่อนหน้านี้ก็ได้จ่ายค่าทำกระท่อมไปแล้ว 6,000 บาท แบ่งเป็นค่าคาใช้มุงหลังคาก็ 2 พันกว่า และค่าไม้อัดทำพื้น 2 พันกว่าบาท เดิมทีจะใช้ไม่ไผ่ที่ตัดมาทำฟากปูพื้น แต่ไม้ที่เลือกไว้สวย ๆ มีมือดีแอบหยิบไป และเวลากระชั้นชิดไม่ทัน คนทำกระท่อมต้องกระโดดมาช่วยทำนา ซ่อมแซมคันนาระหว่างไถ ก็ต้องทำใจจำยอมใช้กระท่อมแบบนี้ไปก่อน แต่ก็พออยู่ได้อย่างดี นี่ยังไม่ได้จ่ายค่าแรงอีก อย่างน้อยก็ 2-3 พันบาท ส่วนการโอนไปก็โอนไปเผื่อค่ากด ATM ค่าน้ำมันอีกเล็กน้อย สรุปแล้วกระท่อมหลังหนึ่งเกือบหมื่นเลยทีเดียว

โอ้แม่เจ้า! รวม ๆ แล้วเราจ่ายไปกว่า 12,000 บาท แล้วเชียวหรือ นี่ยังไม่นับค่าเดินทางค่ากิน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รอบล่าสุดก็เกือบ 4,000 บาท เพราะเลี้ยงวันตรุษจีนอีกนิดหน่อย


ถามว่าแพงไหม ก็อาจจะแพง แต่งานเร่งรีบ แบบนี้ก็ทำใจไว้แล้วครับ

วันนี้คงต้องโอนเงินให้พี่ชายอีกเพื่อไปซื้อถัง 200 ลิตรเพื่อนำมาหมักน้ำจุลินทรีย์ โดยเก็บหอยเชอรีที่ได้มาหมักเพื่อรดต้นข้าวตอนออกรวง ทุกอย่างก็เป็นเงินอีกตามเคย แต่ช่างมันเถอะ เพราะอย่างน้อยก็ได้เรียนรู้และรอวันที่จะพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไป...

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

พันธุ์ข้าวเมืองน่าน

ช่วงนี้ก็ดูข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวเหมือนคนบ้า งานหลักยังไม่ได้แตะเลยหลังกลับจากน่าน แต่ก็ขอสักวันต่อเนื่องตามไฟที่กำรังประทุ

สืบเนื่องจากการปลูกข้าวโดยไม่รู้อะไรแม้แต่นิด มิหนำซ้ำเราพูดฟุ้งเสียจนชาวบ้านที่มาช่วยปลูกเชื่อว่ารู้จริงเสียอีก เราปลูกข้าวไม่ตัดยอดชาวบ้านยังไม่ทักสักนิดเพราะคิดว่าเรารู้ดี จำต้องกลับมาหาข้อมูลเพื่อให้การทำนาถูกต้องหรือได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง

ตอนนี้ปลูกข้าวเจ้าหอมนิลไว้แปลงเล็ก ๆ ใช้ต้นกล้าไป 5 กำ ประมาณ 200 ต้นกว่า ๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งปลูกข้าวหอมสกล ที่เป็นข้าวพื้นถิ่นน่านแต่ได้ชื่อไกลแสนไกล สืบไปมาแล้วเป็นข้าวที่ถูกปลูกจนถือว่าเป็นข้าวพื้นถิ่นเหมาะต่อสภาพของจังหวัดน่าน และได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่านเลยนำมาเก็บไว้เพื่อเป็นข้อมูลเรียนรู้ต่อไป (ผู้เขียน- พิมลพรรณ สกิดรัมย์)

พันธุ์ข้าวที่นิยมในเมืองน่าน หลัก ๆ ประกอบด้วย พันธุ์ กข 6 กข 10 สันป่าตอง 1 รองลงมาก็เป็น 3 พันธุ์ที่ได้รับการทดลองปลูกและปรับเข้ากับสภาพพื้นถิ่นของจังหวัดน่าน พันธุ์เหนียวหวัน1 พันธุ์หอมสกล และพันธุ์เหนียวมะลิหอม

พันธุ์เหนียวหวัน 1 มากจากความพยายามของนายหวัน เรืองตื้อ เกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว บ้านหาดเค็ด ตำบลเมืองจัง กิ่ง อ.ภูเพียง จังหวัดน่าน โดยนำพันธุ์ข้าง 2 พันธุ์มาผสมกัน คือ พันธุ์หอมทุ่ง และพันธุ์ กข 6 และทำการคัดเลือกถึง 8 ฤดูปลูกจึงได้พันธุ์ข้าวเหนียวหวัน 1 ที่ตรงตามความต้องการ พันธุ์เหนียวหวัน1 มีจุดเด่นคือ ลำต้นแข็งแรง แตกกอสูง เมล็ดต่อรวงสูง ลักษณะเมล็ดไม่เรียวมาก หอม หุงกินอร่อย หลังจากกระจายพันธุ์นี้มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ได้รับความนิยมอย่างมาก

พันธุ์หอมสกล เป็นพันธุ์ข้าวที่กลุ่มเกษตรกรโรงเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา นำมาคัดเลือกพันธุ์ จนกระทั้งปรับเข้ากับสภาพพื้นที่ ได้รับความนิยมในพื้นที่ที่ปลูกพืชหลังนา เพราะพันธุ์นี้เป็นข้าวอายุสั้น หากนำไปปลูกต้องระวังนก เพราะถ้าปลูกในจำนวนไม่มากนกจะกินเสียหายเพราะข้าวพันธุ์นี้มีความหอมมาก นอกจากนั้นเมล็ดยังเรียวสวยกินนุ่มอร่อย

พันธุ์เหนียวมะลิหอม เริ่มได้รับความนิยมหลังจากที่แกนนำเกษตรกรฮักเมืองน่านบ้านม่วงตึ้ดนำมาแลกเปลี่ยนในเครือข่าย จากการสืบประวัติพบว่า พันธุ์นี้ได้รับการปรับปรุงและคุดเลือกพันธุ์โดยอาจารย์มงคล พุทธวงค์ ราชมงคลล้านนาน่าน ซึ่งท่านอาจารย์เองเป็นคนม่วงตึ้ดและนำไปให้ครอบครัวและญาติปลูกจนได้รับความนิยม ทางเครือข่ายได้นำมาขยายผลต่อเนื่อง คุณลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้เกือบคล้ายคลึงกับหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวจ้าว ต่างกันตรงที่เป็นข้าวเหนียว โดยมีลักษณะตามสายพันธุ์ดังนี้

พันธุ์ความสูง(ซม.)จำนวนหน่อ/ก่อจำนวนเมล็ดต่อรวงผลผลิตต่อไร่อายุการเก็บเกี่ยว (วัน)
เหนียวหวัน 11639-10250670-700145-150
หอมสกล1467160-200550-660126
เหนียวมะลิหอม160 7-8180-200664135-140


ข้าวพื้นบ้าน และการพัฒนา
ที่มา: สำรวย ผัดผล

ข้าวปลูกของไทย ทั้งข้าวป่าเคยถูกศึกษารวบรวม จัดเก็บในธนาคารเชื้อพันธุ์แห่งชาติที่ปทุมธานีถึง 17,200 ตัวอย่าง เป็นของภาคเหนือถึง 4,079 ตัวอย่าง และเป็นของน่านถึง 780 ตัวอย่าง(ข้อมูลจากธนาคารเชื้อพันธุ์แห่งชาติ) จากการสำรวจของมูลนิธิฮักเมืองน่าน เมื่อปี 2537 ข้าวในเมืองน่านมี 316 ตัวอย่าง

การจัดเก็บนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว พันธุ์ใหม่ๆ สู่นา การยอมรับข้าวพันธุ์ใหม่ๆ คือการแทนที่ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ข้าวพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง อร่อย ตอบสนองต่อวิถีการผลิตแบบใหม่ที่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี และเครื่องไถพรวนจักรกล

ขณะที่ข้าวพื้นบ้านก็ถูกจัดเก็บไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ เพื่อเป็นวัตถุดิบทางพันธุกรรมในการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต การพัฒนาเกิดขึ้นจากการริเริ่มของนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา แล้วนำกลับมาสู่ชาวนาใหม่ ในฐานะผู้ใช้พร้อมๆ กับกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ของนักส่งเสริมการเกษตร ชาวนารอรับเทคโนโลยี และรอรับเมล็ดพันธุ์ดีจากผู้เชี่ยวชาญ เกือบครึ่งศตวรรษ เข้าไปแล้ว

ความสูญเสียพันธุ์ข้าวหายไปพร้อมๆ กับความรู้พื้นบ้านที่กำกับใช้พันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ และที่สำคัญชาวนาสูญเสียความมั่นใจในตนเองว่า ความรู้ และพันธุ์ดั้งเดิมที่สืบรุ่นกันมาแต่ปู่ย่าตายายไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา ที่เป็น “ทุกข์” ของชาวนา ณ วันนี้เสียแล้ว

ข้าวจึงเต็มไปด้วยสารพิษ ผืนนา จึงมีแต่ข้าว ไร้ ปลา หอย ปู และพืชอื่นๆ ปลูกข้าวได้แต่ข้าวคลุกสารพิษ ไม่มีอาหารดังเช่นอดีต

รูปธรรม...ข้าวคืนนา

ปลาคืนน้ำ...ที่เมืองน่าน

ชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้านน่าน ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโจ้โก้ ทำการสำรวจพร้อมจัดเก็บพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พันธุกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่พบว่ามี 316 สายพันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวไร่ 242 สายพันธุ์ ข้าวนา 74 สายพันธุ์

จากนั้นได้บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ คุณสมบัติเบื้องต้น พร้อมกับเหตุผลที่ชาวนาเมืองน่านยังคงจัดเก็บ และใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้

มีข้อค้นพบน่าสนใจหลายประเด็น เช่น ข้าวเมืองน่านกระจายการใช้ไปตามภูมินิเวศน์ที่หลากหลาย ชาวบ้านเรียกว่า “โหล่ง” แต่ละโหล่งจะมีข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมประจำถิ่นอยู่ ยกตัวอย่าง ดอหม่าและ เดิมชื่อดอเมืองและ (อำเภอทุ่งช้างปัจจุบัน) ถูกยอมรับในแถบอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว และอำเภอท่าวังผา เพราะว่าชาวนาแถบนี้ต้องการข้าวอายุสั้น (ดอ แปลว่า อายุเก็บเกี่ยวสั้น) ให้ฟางเยอะ ชาวนาต้องการเอาไว้คลุมแปลงพืชหลังนา ให้ผลผลิตสูง อร่อย ทนโรค ทนแล้ง มีข้อตำหนิเพียงเมล็ดใหญ่ ขายได้ราคาถูก

อีกตัวอย่าง เช่น ข้าวหอมทุ่ง ข้าวเหนียวหอมมะลิ ทั้ง 2 พันธุ์นี้ โดดเด่นในเรื่องความหอม และความแข็งแรงของลำต้น ไม่หักล้มง่าย มีความอร่อยสู้กลุ่ม กข.6 ได้

อาสาสมัครของศูนย์เริ่มทำเป็นทะเบียนพันธุ์พร้อมกับรายละเอียดพันธุ์ แล้วนำเสนอไปยังหมู่บ้านต่างๆ พบว่า ชาวนาแจ้งจำนงจอง และขอกลับไปปลูกในโหล่งเดิมของตนอีกครั้ง เหตุผลที่สำคัญคือ ข้าว กข. ได้แสดงอาการของโรค และความอ่อนแอให้เห็นหลายประการ เช่น กข.6 ล้มง่าย กข.10 มีหน่อเยอะแมลงบั่วชอบมาก อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนจาก ข้าวกข. มาหาพื้นเมืองอีกรอบก็ทำได้ลำบาก เพราะติดใจในรสหุงต้มที่อร่อย ความสวย เรียวงามของเมล็ด และราคาที่สูง

นายหวัน เรืองตื้อ ผู้ผสมผสานปัญญาพื้นบ้าน กับปัญญาใหม่ทางวิทยาศาสตร์

หวันเป็นชาวนารุ่นใหม่วัยสี่สิบต้นๆ ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ ให้กับชาวนาเมืองน่าน ตั้งแต่ปี 2539 โดยเริ่มจัดเก็บข้าวพื้นเมือง ประมาณ 41 สายพันธุ์เพื่อศึกษาพร้อมกันนั้นได้ทดลองผสมข้ามพันธุ์ โดยเอาข้าวหอมทุ่ง เป็นฐานพันธุ์ แล้วนำเอาเกสรตัวผู้ กข.6 เป็นพ่อ

จากนั้นอาศัยความเพียรอย่างยิ่งยวดอีก 8 ปี ในการคัดเลือกลูกผสม จนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเด่นกว่าพ่อ และแม่ โดยข้าวพันธุ์ใหม่ ให้ผลผลิตสูง, ลำต้นแข็งแรง, หอมอร่อย เมล็ดเรียวสวยงาม จากนั้นได้นำมาทดลองปลูก ถูกยอมรับในโหล่งของตนเอง และข้าวยังกระจายไปต่างอำเภอจนเกือบครบทุกพื้นที่ของจังหวัดน่าน นอกจากนั้นยังกระจายไปในหมู่ญาติมิตรต่างจังหวัด เช่นที่ พะเยา เลย หนองคาย และเชียงราย เป็นต้น ที่แน่ๆ ข้าวพันธุ์นี้เหมาะกับระบบอินทรีย์ที่เจ้าของพันธุ์พัฒนามาให้ตอบสนองต่อวิธีการผลิตแบบชาวบ้าน

วันนี้ หวัน เรืองตื้อ จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับสมาชิกชาวนาอื่นๆ ในการนำใช้สายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมาปรับปรุงใช้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง ชาวนาที่บ้านทุ่งฆ้องได้คัดเลือกข้าวหอมสกล ซึ่งเป็นลูกผสมของพันธุ์ดั้งเดิม คือ หอมอ้ม ผสมกับ กข.10 ขณะที่ชาวนาอำเภอภูเพียง ทำข้าวเหนียวหอมมะลิ คัดเลือกให้บริสุทธิ์ นำมาปลูกใช้ใหม่ เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย

ปีนี้ 2551 ชาวนาที่น่านได้ร้องขอข้าวอีก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ขี้ตมขาว เจ้าดอ นางเก๋า ผาโก้งน้อย และมะน้ำปัว จากกรมการข้าว ขณะนี้ กลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้านป่าอ้อย อำเภอสันติสุขได้ปลูกดูแล พร้อมกับบันทึกลักษณะอยู่

พวกเขาตั้งใจว่า จะขอดูแลแม่ขวัญข้าว โดยยกขบวนไปรับจากกรมการข้าวพร้อมๆ กับเพื่อนชาวนาอีกกว่า 20 จังหวัด ได้ทำพิธีสู่ขวัญรับแม่ขวัญข้าว แล้วนำกลับที่วัดให้หลวงพ่อได้เปิดถุงนำมาเพาะ ตั้งใจจะใช้เป็นฐานพันธุกรรมในการพัฒนา

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

เริ่มปลูกข้าวเจ้าหอมนิล

เดิมทีได้ปรึกษาพี่สุเรียน วงศ์เป็ง ผู้เป็นที่พี่ทั้งเพื่อนที่เรียนหนังสือชั้นมัธยมปลายมาด้วยกัน ร่วมทำกิจกรรมอบรมนักเรียนในสมัยเรียน โดยปรึกษาว่ามีนาอยู่ประมาณ 3 ไร่ จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้างในช่วงนี้ ถามทั้งปลูกพริก ปลูกถั่วเหลือง แต่ตามฤดูกาลล่าช้าไปแล้ว จึงได้รับคำแนะนำให้ปลูกขยายพันธุ์ข้าว โดยจะปลูกข้าวไม่ไวแสง เป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้องการในภาคเหนือหลัก ๆ ที่คุยกันไว้คือ ข้าวสันป่าตอง และข้าว กข.10

ในที่สุดก็ตกลงปลงใจปลูกข้าวตามคำแนะนำก็เตรียมพื้นที่ ขลุกขลักฉุกละหุกบ้างเรื่องไถ เรื่องคนดูแล มิหนำซ้ำติดปัญหาเรื่องน้ำ ที่มีแหล่งน้ำสามารถใช้ได้ทั้งปี แต่อยู่ต่ำกว่าระดับของนา โดยมีถนนกั้นสูงพอสมควร จึงต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำ และหาซื้อไม่ทันต้องเช่าเขาอีก

ถึงตอนนี้ไม่ได้กลัวเสียเงินหรือขาดทุน แต่กลัวไม่ได้ทำเสียมากกว่า เพราะคิดแล้วการเริ่มต้นครั้งนี้ดูแล้วมีคุณค่า ยิ่งใหญ่เสียจนจะหยุดไม่ได้ เสียเงินไม่ว่าขอให้ได้ลงมือทำ คราวนี้มองไม่เห็นผลกำไร แต่มองว่าต้องสำเร็จ

24, มกราคม 2555
หลังตรุษจีนปีมังกรทอง 1 วัน ก็ได้โอกาสปลูกข้าวต้นเดียวกันเสียที โดยได้คนช่วยปลูกมาจากบ้านน้ำโค้ง ซึ่งเป็นคนงานเก่าแก่ที่ผูกพันเหมือนพี่เหมือนน้องกับพี่กวง, กมล มงคลเกียรติชัย ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้วิชาความรู้ด้านอิเลกโทรนิกส์ และโอกาสในการเรียนรู้ พร้อมทั้งเป็นเสมือนพี่ชายที่ช่วยเหลือกันมาตลอด

ทีมปลูกครั้งนี้เป็นผู้หญิงล้วนนำทีมโดยพี่เพ็ญ ได้เริ่มลงมือปลูกในทีมนี้มีคุณยายอายุ 60 กว่า ๆ มาร่วมด้วย ท่านคล่องแคล่วว่องไวราวกับหญิงสาวก็ไม่ปาน การเพราะปลูกเริ่มขึ้นประมาณ 9.00 น. เลยไปสักเล็กน้อย

แต่ละคนก็หัวเราะวิธีการปลูกข้าวต้นเดียวต่าง ๆ นา ๆ คำพูดที่ติดหูตลอดในตอนนี้คือ "...เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็พึ่งเคยเห็นนี่แหละ... ปลูกข้าวทีละเส้น..." นอกจากจะปลูกทีละต้นยังต้องห่างกันประมาณ 1 ศอกอีกต่างหาก

และพี่ตาสามีพี่เพ็ญก็สั่งให้ทุกคนปลูกข้าวหอมนิลเป็นอันดับแรกก่อนที่เจ้าตัวจะเดินทางไปประชุมเกี่ยวกับปศุสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมของหมู่บ้าน


จากเดิมวางไว้จะปลูกข้าว กข. 10 แต่ล่าช้าติดขัด ทำให้ต้นกล้าไม่มี จึงได้ข้าวหอมสกล และข้าวหอมนิลมาอย่างละนิด  และข้าวหอมนิลที่ได้เป็นต้นกล้าอายุ 15 วัน ซึ่งชาวบ้านก็ตกใจเพราะปกติคุ้นเคยกันต้อง 30-40 วัน ต้นกล้าสูงเกือบเข่า แต่ต้นที่เอามานี้สูงประมาณ 1 คืบ ปักลงดินไปทีน้ำท่วมมองไม่เห็นยอดข้าว และที่สำคัญคราวนี้เราปลูกข้าวแบบลืมตัดยอด เพราะไม่รู้ว่าต้องตัดหรือเปล่า คนที่รู้ก็ยังไม่มา และชาวนาที่ปลูกก็ไม่กล้าถามหรือคัดค้าน เพราะกรรมวิธีที่เขาไม่คุ้นเคย ต่างก็มาถามผู้เขียนกันยกใหญ่ว่า กว้างหรือแคบแค่นี้พอหรือยัง ผู้เขียนก็สาระวนกับการถ่ายรูป ได้แต่พยักหน้าหงึก ๆ ให้สัญญานคุณยาย



ภรรยาผู้เขียนกระโดดลงแปลงนาด้วยสัญชาติญานลูกชาวนา ตั้งหน้าตั้งตาปลูกจนหมดระยะ ผู้เขียนก็ไม่รอช้าวางอุปกรณ์การถ่ายภาพทิ้งไว้ข้างแปลงนาลองไปลุยสักตั้งจะได้รู้ว่าการปลูกข้าวหรือการดำนาเป็นอย่างไร


การปลูกก็เป็นไปอย่างเงียบ ๆ ผู้เขียนเองก็เครียดกับการปลูกพอสมควร เพราะน้ำในนาระดับไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งลึกกว่า คนดูแลบอกว่าจะให้ดีต้องใช้รถไถเดินตาม เกลี่ยดินให้เสมอราบเรียบ สำหรับรถไถใหญ่นั้น พี่สุเรียนแนะนำให้ถือจอบกับมีดพร้าเดินตาม จอบเอาไว้เกลี่ยดินให้สม่ำเสมอ ส่วนมีดพร้าเอาไว้ฟันปลา (แต่พี่กวงแย้งนึกว่าเอาไว้ฟันคนขับรถไถ)

ในบริเวณที่น้ำลึกบางครั้งปักต้นกล้าลงไปแล้วน้ำท่วมยอดมองไม่เห็นจนจำไม่ได้ว่าตรงไหนปักไปหรือยัง บางครั้งก็เอามือควาน ๆ ดูว่าปักต้นกล้าไปแล้วหรือไม่ พอคลำเจอก็ไม่แน่ใจว่าหญ้าหรือต้นข้าว ถึงกับถอนออกมาดูว่าใช่หรือไม่แล้วปักลงไปใหม่ก็มี ไม่รู้ว่างานนี้จะออกหัวหรือก้อย

ส่วนการปลูกข้าวหอมสกลอีกฝั่งหนึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยดีจนถึงบ่ายสอง


สำหรับข้อมูลเกี่ยวข้าวหอมนิลนั้นได้อ่านพบในเว็บของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ข้าวเจ้าหอมนิล (http://www.ku.ac.th/e-magazine/april44/agri/rice1.html)

ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจนได้ข้าว ที่มีเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาว สีม่วงเข้ม ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะนุ่ม เหนียว หอม ข้าวสารหุงสุกมีสีม่วงอ่อน นุ่ม และมีกลิ่นหอมเช่นกัน คุณสมบัติที่สำคัญของข้าวเจ้าหอมนิลคือ ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงถึง 12.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ amylose 16 เปอร์เซ็นต์ และยังประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ (ตารางที่ 1) นอกจากนี้ลักษณะดีเด่นของข้าวเจ้าหอมมะลิที่พบนอกจากคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ทรงต้นเตี้ย แตกกอดี เมล็ดมีน้ำหนักดี อายุสั้นเพียง 90 วัน ทำให้สามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้งต่อปี ดังนั้นหากได้รับการจัดการที่เหมาะสมในการผลิตต่อปีสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ

สำหรับคุณค่าทางโภชนการเมื่อเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้วจะเห็นว่ามีปริมาณโปรตีนสูงกว่าถึงหนึ่งเท่าตัว แต่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตจะต่ำกว่าเล็กน้อย


ลักษณะประจำพันธุ์
ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 95 วันหลังหว่าน ลำต้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร การแตกกอดี ใบและลำต้นมีสีเขียวเข้มปนสีม่วง เปลือกหุ้มเมล็ดข้าวมีสีม่วงเข้ม เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ 6.5 มิลลิเมตร ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และแมลงโดยทั่ว ๆ ไป

         การศึกษาเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมายชนิด microsatellite จำนวน 48 ตำแหน่ง มาทำการตรวจสอบ ชี้ให้เห็นว่า ข้าวเจ้าหอมนิลมีความแตกต่างจากข้าวพันธุ์ Hei Bao และ Xua Bue Huqที่เป็นข้าวเมล็ดสีดำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงยืนยันได้ว่าข้าวทั้ง 3 ไม่ได้เป็นพันธุ์เดียวกัน

ข้อมูลจาก: http://www.sininrice.com/insightsub1.html

ลักษณะประจำพันธุ์   ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี การแตกกอดี ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และแมลงโดยทั่วๆ ไป
ความสูงของต้น
สีของ ใบ/ลำต้น
เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ
เปลือกหุ้มเมล็ดข้าว
อายุการเก็บเกี่ยว
ผลผลิตเฉลี่ย
75 เซนติเมตร
เขียวเข้มอมม่วง
6.5 มม. มีสีม่วงดำ
มีสีม่วงเข้ม
95-100 วัน
400-700 กิโลกรัมต่อไร่
ต้านทานต่อโรคไหม้ (Blast)
ทนทานต่อสภาพแล้ง (Drought) และดินเค็ม (Salinity)

ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีโปรตีนอยู่ในช่วงประมาณ 10-12.5 % มีปริมาณแป้งอะมัยโลสประมาณ 12-13% มีปริมาณสาร 2-acetyl-1-pyrroline ปานกลาง ร่วมกับสารหอมระเหยจำเพาะ พวก Cyclohexanone ในปริมาณมาก มีแคลเซียม 4.2 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม ปริมาณธาตุเหล็กแปรปวนอยู่ระหว่าง 2.25- 3.25 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม และธาตุสังกะสีประมาณ 2.9 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

ข้าวเจ้าหอมนิลมีปริมาณสาร antioxidation สูงประมาณ 293 ไมโครโมลต่อกรัม ในส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีม่วงเข้มประกอบไปด้วยสาร anthocyanin, proanthocyanidin, bioflavonoids และวิตามิน E ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสีผสมอาหารตามธรรมชาติ

ในส่วนของรำและจมูกข้าว มีวิตามิน E วิตามิน B และกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ในส่วนของรำมีน้ำมันรำข้าว 18% เป็นองค์ประกอบ ซึ่ง 80 % เป็นชนิด C18:1 และ C18:2 เหมือนกับน้ำมันที่ได้จากถั่วเหลืองและข้าวโพดและพบว่ามีสาร omega-3 ประมาณ 1-2 % รำข้าวของเจ้าหอมนิลมีปริมาณเส้นใย digestible fiber สูงถึง 10% จากข้อมูลทางโภชนาการนับได้ว่าข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีศักยภาพในการนำมาแปรรูปทางอุตสหกรรมอาหารสูง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวเจ้าหอมนิล รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่าง

คุณประโยชน์ของสีม่วงในข้าวเจ้าหอมนิล
ข้าวเจ้าหอมนิลมีเมล็ดสีม่วงดำ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสีของเมล็ด สีม่วงดำประกอบไปด้วย สีม่วงเข้ม (cyanidin) สีชมพูอ่อน (peonidin) และสีน้ำตาล (procyanidin) ผสมกัน ซึ่งสีที่เห็นนั่นเป็นสารประกอบกลุ่ม flavonoid ที่เรียกว่า สารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่ประกอบไปด้วยสาร cyanidin กับ สาร peonidin

สารโปรแอนโทไซยานิดิน (proanthocyanidin) ประกอบด้วยสาร procyanidin ซึ่งสารดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นสาร antioxidant ที่ทำหน้าจับกับอนุมูลอิสระแล้วช่วยทำให้กลไกลการทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปกติ

สารแอนโทไซยานิน มีรายงานวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจ และสมอง บรรเทาโรคเบาหวาน ช่วยบำรุงสายตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นเวลามองตอนกลางคืน สาร cyanidin มีประสิทธิภาพในการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินอี หลายเท่า และยังยับยั้งการเจริญเติบโตของ epidermal growth factor receptor ในเซลล์มะเร็ง สารโปรแอนโทไซยานิดิน หรือเรียกว่าสาร condensed tannins มีรายงานวิจัยพบว่า สารโปรแอนโทไซยานิดิน ทำการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินซี วิตามินอี และ เบต้าแคโรทีน (beta-carotene) สาร โปรแอนโทไซยานิดิน ยังไปจับกับอนุภาคของกัมมันตภาพรังสีทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ และช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดป้องกันโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ยังยับยั้งการเจริญเติบของเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด กระเพาะอาหาร และเม็ดเลือดขาว และยังป้องกันไวรัส HSV-1 และยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ reverse transcriptase ใน ไวรัส HIV

การผลิตและการตลาดข้าวเจ้าหอมนิล
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเกษตรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตข้าวเจ้าหอมนิลออกสู่ตลาดผู้บริโภค เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ที่ผ่านมา โดยในข้อตกลงดังกล่าวนี้ พันธุ์ข้าวเจ้าหอมนิลยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นเจ้าของสิทธิบัตร หากมีการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศทั่วโลก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการผลิตข้าวเปลือกที่มีคุณภาพส่งให้กับบริษัทฯ ในราคาประกัน โดยบริษัทคิดราคาให้ในราคาสูงสุดของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ณ โรงสี ตามประกาศของกรมการค้าภายใน ในวันที่ส่งข้าวแต่ละครั้ง แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ทั้งนี้บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งกลับคืนมาจากมูลค่าของข้าวเปลือกที่ส่งให้กับบริษัทฯ เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย และยังจะได้ค่าตอบแทนสิทธิ์ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่ส่งให้กับบริษัทฯ เป็นเวลา 10 ปีด้วย

ส่วนบริษัทเกษตรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อข้าวเปลือกจากมหาวิทยาลัย แปรรูป และจำหน่ายข้าวเจ้าหอมนิลในรูปของผลิตภัณฑ์ ข้าวเจ้าหอมนิล เพื่อนไทย และข้าวหอมไตรรงค์ เพื่อนไทย ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของโลตัส จัสโก้ และท๊อป เนื่องจากข้าวเจ้าหอมนิลเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการต่อไป บริษัทเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพและความสนใจข้าวเจ้าหอมนิลจะได้นำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก เช่น น้ำนมข้าว breakfast cereal เป็นต้น...

ข้าวเจ้าหอมนิลมีเมล็ดข้าวกล้องสีดำ แต่ที่จริงคือสีม่วงเข้มที่สะสมอยู่ในส่วนของรำ(pericarp) ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งหมดสามสี คือ สีน้ำตาลอ่อน(procyanidin), สีแดง(peonidin), และสีม่วง(cyanidin) สีทั้งหมดของข้าวเป็นรงควัตถุ(pigments) ที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ flavonoid (ภาพที่1) ในต้นข้าว ซึ่งอาศัย 2 ปัจจัยหลักคือ

1) ปัจจัยของพันธุกรรม(genetic factor) เช่น ระบบการทำงานของยีนควบคุม(regulatory genes) และยีนโครสร้าง(structural genes)

2) ปัจจัยของสภาพแวดล้อม(environment factor) เช่น สภาพของดิน แร่ธาตุ สารอาหาร pH อุณหภูมิ และแสง

จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำการศึกษายีนโครสร้างที่สำคัญ คือ CHS(Chalcone synthase), DFR(Dihydroflavonol reductase), ANS(Anthocyanidin synthase) และ ยีนควบคุมที่สำคัญคือ
C1( Colored-1), OSB1(O. sativa Booster1), OSB2 (O. sativa Booster2) และปัจจัยของสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ว่ามีผลต่อลักษณะของสีเมล็ดที่แสดงออกหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า ยีนควบคุมที่สำคัญคือ OSB1 ทำหน้าที่ควบคุมการสังเคราะห์สีที่เมล็ดข้าว (ภาพที่ 2) ส่วนยีนโครงสร้างที่มีสำคัญที่มีผลให้สีของเมล็ดข้าวเกิดเข้มขึ้นหรือจางลง คือยีน ANS (ภาพที่ 3) และผลของอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนทำให้ยีน DFR เกิดการ unsplicing ขึ้นในกระบวนการถอดรหัสสารพันธุกรรม (transcriptional)

จุดเริ่มต้นของ ThaiSRI

ก็แอบแฝงอุปโลกเอาเป็นชื่อเสียสวยหรูเป็นวงใหญ่ ๆ ไว้ แต่ก็พึ่งเริ่มต้นได้นิดเดียวแค่การเรียนรู้ของตนเองตามประสาคนที่อยากแสวงหาที่ยืนบนโลกด้วยการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่เอาเปรียบธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคม



แรกเริ่มเดิมทีก็ไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับการทำนาสักเท่าใดนัก ด้วยมองเห็นความเหนื่อยยาก เคยไปดำนาแล้วปวดหลังแทบหัก ไข้ขึ้นต้องกินยาพาราเป็นแผง และฝังใจเสมอมาว่าไม่จำเป็นต้องทำนาก็มีข้าวกิน เพียงแค่หาเงินได้เยอะ ๆ แล้วซื้อข้าวกินก็แค่นั้นเอง

เมื่อปีที่ผ่านมาก็ยังยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องทำนา ลำพังแค่ซื้อข้าวกินปีละไม่กี่บาท ก็ไม่ต้องลำบาก ยิ่งใครคิดจะทำนาขายข้าว ผู้เขียนมักต่อต้านโดยเฉพาะญาติพี่น้องบางคนที่ทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไปขายแต่ละปี มักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุน ไม่ว่าจะปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า-แมลง ปี ๆ ดูเหมือนจะหาเงินให้กับพ่อค้านายทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ และมักจะได้คำตอบจากผู้เขียนว่า ให้เอาเงินที่ไปลงทุนเก็บไว้ซื้อข้าวกิน ก็ไม่ต้องเหนื่อยยาก ลำบากทำนาเลย

ถึงแม้วันนี้ก็ยังยืนยันว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อยหากจะทำนาขายข้าวแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรเสีย พ่อค้าคนกลางก็ได้กำไรวันยังค่ำ แต่สำหรับเรื่องการปลูกข้าวเป้าหมาย และความคิดในใจของผู้เขียนได้เปลี่ยนไป แตกต่างจากทั่วไปบ้างเพราะผู้เขียนสนใจการปลูกข้าวต้นเดียว ที่นักวิชาการเรียกว่า SRI, System of Rice Intensification



และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 หลังตรุษจีน 1 วัน ที่ผ่านมานี้ ก็ได้มีโอกาสไปปลูกข้าวแบบต้นเดียว ที่จังหวัดน่าน ก็เริ่มรู้สึกผูกพัน จนเป็นเหตุให้เกิดบล็อกแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ขึ้น แต่ยังคิดหาชื่อที่เจ๋ง ๆ เป็นปฐมฤกษ์ไม่ได้จึงใช้ thaisri ไปเสียเลย หวังว่าจะใช้ได้ และพัฒนาให้เป็นบันทึกแห่งการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าทั้งแก่ตนเอง และผู้สนใจทั่วไป... หากว่าผิดพลาดประการใดก็วอนผู้รู้ต่อเติมสานแต่งข้อมูลให้เกิดประโยชน์ด้วยเถิด...
ผู้ชักนำให้ผู้เขียนรู้จักการปลูกข้าวต้นเดียว