วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคใบไหม้

วันนี้ (16/2) ได้รับแจ้งจากพี่สุเรียนว่าข้าวนาปลูกแตกกอแล้วไม่มีปัญหาอะไร ส่วนนาหว่านยังไม่แตกกอเพราะระยะวันน้อยกว่า แต่เจอปัญหาขอบใบเหี่ยว  และได้สอบถามนักวิชาการแล้วคาดว่าจะเป็นโรคจากเชื้อราในดินยังไม่แน่ใจว่าเป็นโรคใบไหม้หรือเปล่าเพราะมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคล้ายโดนหนอนใบห่อ แต่ก็ค้นหาตัวหนอนไม่เจอ และถอนดูรากก็ปกติไม่ถูกทำลาย

จึงนำเอาข้อมูลโรคใบไหม้มาเก็บไว้ก่อนเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป

โรคไหม้ (Rice Blast)

พบมากใน นาน้ำฝน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง พบส่วนใหญ่ใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc.

อาการ
ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

ระยะคอรวง (ระยะออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก

การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน น้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง ถ้าอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 oC ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี

เตือนระวังโรคขอบใบแห้งในนาข้าว
เกษตรอำเภอเมืองพะเยา เตือนชาวนา ระวังโรคขอบใบแห้งในนาข้าวระบาด พร้อมแนะ หากเกิดโรคดังกล่าว ควรงดใส่ปุ๋ยยูเรีย

นางอำไพ สุวรรณอาสน์ เกษตรอำเภอเมืองพะเยา แจ้งว่าในช่วงที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง มักจะพบการระบาดของโรคขอบใบแห้ง โดยเฉพาะข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอ และใส่ปุ๋ยไนโตรเจน หรือปุ๋ยยูเรียมาก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวรุนแรง ทั้งนี้โรคขอบใบแห้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการของโรค จะมีลักษณะช้ำที่ขอบใบล่าง ต่อมา 7-10 วัน จุดช้ำจะขยาย เป็นทางสีเหลือง ยาวตามใบข้าว ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว แผลอาจมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลม ๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด หลุดไปตามน้ำหรือน้ำฝน ซึ่งจะทำให้โรคระบาดมากขึ้น บางกรณีเชื้อจะเข้าทำลายในบริเวณใบมาก ส่งผลให้ต้นข้าวเหี่ยวเฉา และตายอย่างรวดเร็ว เรียกอาการของโรคในระยะนี้ว่า ครีเสก

เกษตรอำเภอเมืองพะเยา กล่าวแนะถึงการป้องกันโรคดังกล่าวว่า เกษตรกรไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น เพราะจะทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว เกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบในนาข้าวที่ปลูกข้าวขาวมะลิ 105 ,กข.6 ,ข้าวเหนียวสันป่าตอง และพันธุ์พิษณุโลก 2 ควรตรวจแปลงนาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หากพบโรคดังกล่าวควรใช้สารป้องกันกำจัด เช่น คาโนรอล,แคงเกอร์เฮ็ก,ฟังดูราน และฟูจิวัน หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร.0-5448-0082 ในวัน เวลาราชการ

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดูความคืบหน้านาข้าว

หลังจากปลูกข้าวต้นเดียวทิ้งไว้เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (24, มกราคม) ใช้คำว่าทิ้งถูกต้องที่สุดเพราะปลูกเสร็จก็กลับ กทม. ปล่อยให้พี่สุเรียน, พี่กวง พี่ตา และพี่เพ็ญ ดูแลไป และได้ทราบมาว่าการดูแลดีมาก พี่ตา กับพี่เพ็ญต้องตื่นไปเก็บหอยเก็บปูทุกคืน และดูน้ำเพราะมีปลาไหลเจาะคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำรั่วไหลไปที่อื่น

ส่วนพี่สุเรียนก็ไปตรวจไปให้คำแนะนำปิด เปิดน้ำเข้าแปลงนาไม่ขาดระยะ ทำให้เรารู้สึกว่าคราวนี้ไม่ได้ช่วยอะไรมากเลยนอกจากสนับสนุนเงินทุนซื้อโน่นนี่เพื่อให้งานเดินไปด้วยดี ก็ขอขอบคุณผู้ที่กล่าวไว้ ณ โอกาสนี้
พี่สุเรียน วงศ์เป็งกำลังให้คำแนะนำเรื่องน้ำ
เมื่อวาน (5, กุมภาพันธ์) จึงเดินทางไปน่านอีกครั้งประเภทไปถึงเช้าเย็นก็กลับเพื่อมาทำงานต่อวันอาทิตย์ จึงเป็นการเดินทางอันหฤโหด ทำให้ได้เชื้อหวัดเพิ่มเติม วันนี้ยังเมื่อยเนื้อตัวและตัวรุม ๆ ไอ จาม ตลอดทั้งวัน แต่ก็รวบรวมรูปภาพเพื่อนำมาบันทึกไว้ก่อน

บรรยากาศเช้า ๆ ในตัวเมืองน่านพระอาทิตย์ขึ้นกลางถนนเลย
เริ่มแรกเช้าเมื่อไปถึงสถานีขนส่งน่านก็นั่งรถสองแถวรอบเวียงไปลงที่บ้านก่อนคนละ 20 บาท และยืนคุยกับพี่กวงที่กำลังง่วนกับการปิ้งหมูขายตอนเช้าจนกว่าจะเรียบร้อยก็ 10 โมงเช้า แต่วันนี้เตรียมวัถตุดิบเพื่อทำคั่วหน่อไม้ดองไปฝากพรรคพวกที่ กทม. เลยทำให้ล่าช้าไปเกือบ 11 โมง จึงเดินทางไปที่แปลงนาห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร
เครื่องสูบน้ำตัวเล็ก 6.5 แรงม้า แต่อึดมากราคาประหยัดทั้งเซ็ตสามารถนำไปสูบน้ำได้อยู่ที่ 6,800 บาท
เมื่อไปถึงพี่ตากำลังสูบน้ำออกจากสระปลาที่คนเก่าเขาทำไว้ ก็ไปดูกับเขาสักนิดหนึ่ง ด้วยเครื่องขนาดเล็กสำหรับรดน้ำต้นไม้ และสูบน้ำเข้านา แต่ก็นำมาใช้สูบน้ำออกจากสระได้เป็นอย่างดี เครื่องรุ่นนี้อึดมาก และเปิดเครื่องตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึงบ่ายสองน้ำแห้งขอดให้จับปลาได้ แต่ปลาตัวใหญ่มากทำให้ไม่มีใครกล้ากิน และนำไปขายก็คงขายไม่ออก เพราะมันใหญ่เกินไปคิดว่าคงต้องเอาไปปล่อยแม่น้ำน่านเป็นแน่
เทียบให้เห็นว่าปลาตัวโตขนาดไหน เป็นปลาดุกรัสเซียเลี้ยงมาหลายปีแล้ว
ได้พูดคุยกับพี่สุเรียนแล้วบอกว่าข้าวที่ปลูกได้ผลดี เสียหายน้อย เพราะมีการจัดการน้ำได้ดี (ศปภ. น่าจะมาดูงานเพื่อเอาไปเป็นแบบอย่างในปีหน้าหากน้ำท่วม กทม.) เทียบกับศูนย์อื่นที่ประสบปัญหาชาวบ้านบางคนยังคุ้นเคยกับการเพาะปลูกแบบเดิม ๆ ทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำ อาจจะได้ผลผลิตต่ำ และที่นี่ก็คาดว่าจะได้ประมาณ 3-40% เท่านั้นเมื่อเทียบกับนาปี แต่เป็นอย่างไรก็ต้องดูกันอีกที

และแปลงนาข้าวหอมนิลกลับยืนต้นถอดยอดได้ดีกว่าข้าวหอมสกลซึ่งอาจจะเป็นเพราะข้าวกล้าหอมนิลยังสดอายุ 15 วันได้ลงแปลงเลยตั้งตัวได้ดีกว่า ส่วนหอมสกลที่นำมาก็เหลืองแล้วมีตายไปบ้าง แต่ก็มีแปลงที่หว่านเผื่อไว้นำมาซ่อมแซมส่วนที่เสียหายไปได้
หอมนิลเจอตั๊กแตนไปหลายตัว ต้นนี้สองตัวอีกต้นหนึ่ง 3 ตัว แต่ก็เรียบร้อยโรงเรียนชาวนากลายเป็นเหยื่อตกปลาไปแล้ว
ส่วนแปลนาหอมสกลก็ออกยอดใหม่แล้วแต่ต้นยังเล็ก ๆ ดูแล้วน่าเป็นห่วงกว่าหอมนิล อีกประมาณ 15 วันคงเป็นแตกกอ ซึ่งตอนนี้พี่สุเรียนได้สั่งให้ทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยเพื่อเพิ่มและกระตุ้นปริมาณไนโตรเจนในดิน ปกติชาวนามักจะหว่านปุ๋ยน้ำตาลหรือปุ๋ยยูเรีย แต่เราจะใช้ฮอร์โมนจากหน่อยกล้วย โดยแนะนำให้เก็บหน่อต้นกล้วยก่อนพระอาทิตย์ทอแสง ไม่ใช่เคล็ดแต่เป็นวิทยาศาตร์เพราะช่วงกลางคืนต้นกล้วยจะสะสมปริมาณสารอาหารต่าง ๆ และเมื่อต้องแสงอาทิตย์จะทำให้สารอาหารฮอร์โมนถูกปล่อยผ่านทางปากใบ

และช่วงเข้าตั้งท้องจะใช้ฮอร์โมนเปลือกไข่เพื่อเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียม และโปรตีน เลยนำไข่ไก่มา 5 กิโลกรัมเพื่อผสมกากน้ำตาล 5 กิโลกรัมและหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 กิโลกรัม, วันนี้โทรไปก็ได้ยินเสียงตำเปลือกไข่ สับหน่อยกล้วยกันครึกครื้น
ข้าวหอมสกลที่แตกยอดใหม่เป็นสัญญานว่ารอดแน่ ๆ แต่ก็ลุ้นต่อไปว่าจะรอดจากปากหอยปากปูหรือไม่ แถมยังเจ้าตั๊กแตนอีก
จากที่เดินไปถ่ายรูปต้นข้าวแปลงนาสักพักก็กลับไปดูเขาจับปลากันอีก ได้ปลาดุกประมาณ 5-60 ตัวและปลาสวายอีกประมาณ 3-40 ตัว ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรกันบ้างเพราะมันเยอะมาก และมากเกินไปสำหรับพวกเราคงต้องปล่อย ๆ ไปบ้างแหละ... และขออโหสิกรรมกับการกระทำในครั้งนี้ไว้ ณ โอกาสนี้

พอบ่าย 4 โมงเย็นเศษ เราก็กลับข้าวในเมืองเพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ทำคั่วหน่อไม้ดอง และไปซื้อของฝาก กลับมาเติมท้องให้เต็มก่อนที่จะหลับยาวเมื่อขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ กทม. ให้ทันทำงานวันรุ่งขึ้น งานนี้เราคุยกันเล่น ๆ ว่าครั้งหน้าจะเดินทางด้วยเครื่องไปน่านเพื่อดูแปลงนาแล้วเย็นก็กลับ น้อง ๆ ที่ทำงานว่างานนี้จะไม่ขาดทุนยับเยินหรือ เราก็บอกว่าไม่ขาดทุนเพราะจะขายข้าวกิโลกรัมละ 120 บาท อย่างน้อยก็บังคับพนักงานซื้อคนละ 1 กิโลกรัมเพื่อเป็นปฐมฤกษ์... สวัสดีครับ

ประมวลภาพ