วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคใบไหม้

วันนี้ (16/2) ได้รับแจ้งจากพี่สุเรียนว่าข้าวนาปลูกแตกกอแล้วไม่มีปัญหาอะไร ส่วนนาหว่านยังไม่แตกกอเพราะระยะวันน้อยกว่า แต่เจอปัญหาขอบใบเหี่ยว  และได้สอบถามนักวิชาการแล้วคาดว่าจะเป็นโรคจากเชื้อราในดินยังไม่แน่ใจว่าเป็นโรคใบไหม้หรือเปล่าเพราะมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคล้ายโดนหนอนใบห่อ แต่ก็ค้นหาตัวหนอนไม่เจอ และถอนดูรากก็ปกติไม่ถูกทำลาย

จึงนำเอาข้อมูลโรคใบไหม้มาเก็บไว้ก่อนเพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป

โรคไหม้ (Rice Blast)

พบมากใน นาน้ำฝน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง พบส่วนใหญ่ใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc.

อาการ
ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

ระยะคอรวง (ระยะออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก

การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน น้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง ถ้าอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 oC ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี

เตือนระวังโรคขอบใบแห้งในนาข้าว
เกษตรอำเภอเมืองพะเยา เตือนชาวนา ระวังโรคขอบใบแห้งในนาข้าวระบาด พร้อมแนะ หากเกิดโรคดังกล่าว ควรงดใส่ปุ๋ยยูเรีย

นางอำไพ สุวรรณอาสน์ เกษตรอำเภอเมืองพะเยา แจ้งว่าในช่วงที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง มักจะพบการระบาดของโรคขอบใบแห้ง โดยเฉพาะข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอ และใส่ปุ๋ยไนโตรเจน หรือปุ๋ยยูเรียมาก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวรุนแรง ทั้งนี้โรคขอบใบแห้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการของโรค จะมีลักษณะช้ำที่ขอบใบล่าง ต่อมา 7-10 วัน จุดช้ำจะขยาย เป็นทางสีเหลือง ยาวตามใบข้าว ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว แผลอาจมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลม ๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด หลุดไปตามน้ำหรือน้ำฝน ซึ่งจะทำให้โรคระบาดมากขึ้น บางกรณีเชื้อจะเข้าทำลายในบริเวณใบมาก ส่งผลให้ต้นข้าวเหี่ยวเฉา และตายอย่างรวดเร็ว เรียกอาการของโรคในระยะนี้ว่า ครีเสก

เกษตรอำเภอเมืองพะเยา กล่าวแนะถึงการป้องกันโรคดังกล่าวว่า เกษตรกรไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น เพราะจะทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว เกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบในนาข้าวที่ปลูกข้าวขาวมะลิ 105 ,กข.6 ,ข้าวเหนียวสันป่าตอง และพันธุ์พิษณุโลก 2 ควรตรวจแปลงนาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หากพบโรคดังกล่าวควรใช้สารป้องกันกำจัด เช่น คาโนรอล,แคงเกอร์เฮ็ก,ฟังดูราน และฟูจิวัน หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร.0-5448-0082 ในวัน เวลาราชการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น