วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวพันธุ์อะไร

ประเด็นเรื่องราวที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาและตอนนี้เงียบหายไป สักพักคงรื้อฟื้นข้าวมาอีก เรื่องของการจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ ในยุคกระแสการหวงแหนแสดงตัวเป็นเจ้าของ ทั้ง ๆ ที่ในอดีตข้าวเหล่านี้คือพืชไร่ เป็นพืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว และหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำนาให้มากที่สุด แต่ก็ประสบปัญหาว่าหนังสือพวกนี้มีน้อยมาก คงจำกัดอยู่แต่ในรั้วในเขตสถาบันการวิจัยหรือสถาบันทางการศึกษา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าเศร้าเพราะการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ชาวไร่ ชาวนา ตาดำ ๆ ทำได้ยาก แต่หากเป็นนักวิชาการจากต่างประเทศก็สามารถได้ข้อมูลโดยง่าย แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงกลับไม่ถึงมือชาวบ้าน

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งตกไปอยู่กับนายทุน ที่จะพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาขูดรีด ไถเงินเอากับชาวบ้าน โดยมีหน่วยงานภาครัฐรู้เห็นเป็นใจ ทำตัวเยี่ยงนายหน้าค้ากำไร ช่างอนาถใจยิ่งนัก

กลับมาถึงเรื่องข้าวหอมมะลิ ที่มีวางขายปัจจุบันเป็นข้าวพันธุ์ไหนกันแน่?

กรมการข้าวซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้เน้นการปรับพรุงพันธุ์จากพันธุกรรมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าว กข 15 เป็นหลัก การปรับปรุงก็เน้นเพื่อพัฒนาให้ต้นข้าวทนต่อโรคข้าว แมลงศัตรู และทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

ข้าวหอมมะลิ มีความหอมเนื่องจากมีสาร 2-Acetyl-1-Pryroline แต่ปริมาณสารเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพน้ำและภูมิอากาศ จึงทำให้หลายคนในประเทศไทยยังคงลุ่มหลงว่าข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุดต้องเป็นข้าวจากประเทศไทยเท่านั้น เพราะปัจจัยการเกิดสารความหอมนี่แหละ 

สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อสารความหอมในข้าวหอมมะลิคือ ปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนต้องเหมาะสม สภาพดินเหมาะสม ปริมาณน้ำพอดี อากาศไม่ร้อนมากเกินไป ซึ่งหลัก ๆ ก็เน้นเรื่องการเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพของสารความหอม

แต่เรื่องของชีววิทยาเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สักวันหนึ่งหากมีการค้นคว้าไปเรื่อย ๆ ข้าวที่ปลูกในประเทศอื่น ๆ อาจจะมีความหอมอร่อยกว่าข้าวประเทศไทยก็เป็นได้ หากเรายังยึดติดวังวนของอดีตแล้วไม่พัฒนาศักยภาพต่อไปข้าวหอมมะลิของไทยคงจะกลายเป็นอดีตไปแน่ ๆ

ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่ได้มาโดยนายสุนทร สีหะเนิน เจ้าพนักงานข้าว รวบรวมจากอำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ.2493-2494 จำนวน 199 รวง แล้วนำไปคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure Line Selection) และปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง แล้วปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 4-2-105 ซึ่งเลข 4 หมายถึง สถานที่เก็บรวงข้าว คืออำเภอบางคล้า เลข 2 หมายถึงพันธุ์ทดสอบที่ 2 คือ ขาวดอกมะลิ และเลข 105 หมายถึง แถวหรือรวงที่ 105 จากจำนวน 199 รวง

ข้าวหอมมะลิมีลักษณะพิเศษ คือ มีกลิ่นหอม และเมล็ดอ่อนนุ่ม เมื่อนำมาหุงต้ม และมีการปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ตาม หลักวิชาการจนได้พันธุ์ ข้าวขาวดอกมะลิ 105และรัฐบาลประกาศ ให้ขยายพันธุ์ส่งเสริมการปลูก ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2502 เป็นต้นมา สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวขาว ดอกมะลิ 105 ที่เหมาะสม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางพื้นที่

ลักษณะทั่วไป
  1. เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
  2. เป็นข้าวต้นสูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร
  3. อายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะออกดอกประมาณวันที่ 20 ตุลาคมและสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ประมาณวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี
  4. ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 8 สัปดาห์
  5. ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.1มิลลิเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร
  6. ลักษณะเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดเรียวยาว ก้นงอน สีฟาง
ข้อดี
  1. มีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่มเมื่อนำมาหุงต้ม
  2. ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยวและดินเค็ม
  3. คุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อย
  4. นวดง่าย เนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่าย
  5. เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี
ข้อจำกัด
  1. ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคไหม้และโรคใบหงิก
  2. ไม่ต้านทานแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  3. ต้นอ่อนล้มง่าย ถ้าปลูกในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง
(อ่านเพิ่มเติมใน http://www.sisaket.go.th/WEB_ldd/Plant/Page01.htm)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น